พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ลงมติรับหลักการแห่งร่าง พรบ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.3564 (วาระที่ 1) และตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 72 คน ที่มือชื่อเป็น กมธ อยู่ด้วย (หมายเลข 16) ได้มีสื่อมวลชนขอสัมภาษณ์ ได้แจ้งว่า กมธ.ฯ จะเริ่มมีการประชุมในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในหลักการต้องเลือกประธาน กมธ.ฯ และตำแหน่งต่าง ๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าจะได้เป็นประธาน กมธ. จากนั้นคงร่วมกันพิจารณากำหนดกรอบในการทำงานและรับฟังหน่วยงานต่าง ๆ ภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนกว่า เมื่อ กมธ ฯ มีการประชุม แล้วจะมีแนวทางการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชนซึ่งจะมีตัวแทน กมธ.หรือโฆษกได้ชี้แจงเป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติมา ถือว่าเป็นข่าวที่ออกจาก กมธ สื่อได้ถามถึงแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้ แสดงความคิดเห็นโดยสรุป คือ ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.จะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนรวมของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องด้วย สรุปต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนถ้วนหน้าและต้องพิจารณาแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจสังคม สาธารณสุข ความมั่นคงของประชาชนและประเทศด้วย ในเบื้องต้น สำนักงบประมาณและรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลก่อนจะถึงวันพิจารณาประมาณ 3-5 วันเป็นอย่างน้อย เช่นต้องมีข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณในปี 63 ของหน่วนงานรัฐว่าใช้ไปเท่าไร ยังเหลือจริงเท่าไร เพราะตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณต้องเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เหลือเวลาอีกประมาณไม่ถึง 3 เดือน หากใช้ไม่ทันงบประมาณจะต้องคืนให้เป็นเงินแผ่นดิน เช่น กรณีการเบิกจ่ายไม่ทัน ไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายเวลาขอเบิกจ่ายกับคลัง แม้จะทำได้ความเห็นส่วนตัวในช่วงวิกฤตขณะนี้ ไม่เหมาะสม ซึ่งจากที่ดูข้อมูลจากได้สอบถามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ‘งบกลาง’ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ตั้งไว้จำนวน 518,770 ล้านบาทเศษ (เป็นรายจ่ายประจำ ประมาณ 449,220 ล้านบาทเศษ และงบฉุกเฉิน 9.6 หมื่นล้านเศษ) ยังไม่รวมที่โอนงบมาอีก 8.8 หมื่นล้านบาท พบว่ามีงบกลางค้างไม่ได้เบิกที่ปรากฏใน GFMIS มากถึง 428,419 ล้านบาท จึงมีความสงสัยทำไมตัวเลขจึงเหลือมาก และงบกลาง มีความห่วงใยเรื่องไม่โปร่งใสมาก จะมีข้อมูลและผู้อนุมัติคือนายกรัฐมนตรี กับ ผอ.สำนักงบประมาณ ข้อมูลอื่น ๆ กมธ.ต้องมีข้อมูลการประเมินผลว่า การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพคุ้มค่าในการจ่ายงบประมาณหรือไม่ สิ่งที่ยกมาเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีข้อมูลทั้งนั้น ซึ่งหวังว่าสำนักงบประมาณจะให้ข้อมูล เบื้องต้นมีความห่วงใยในเรื่องความไม่ชอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง หลายประเด็น อาทิ ที่กำหนดให้ ‘รายจ่ายลงทุน’ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ในร่าง พ.ร.บ.มีคำว่า ‘งบลงทุน’ เพียงร้อยละ 15.6 ไม่มีคำนิยาม รายจ่ายลงทุนไว้ในกฎหมายและสำนักงบประมาณ และได้นำรายจ่ายอื่น ๆ เป็นรายจ่ายลงทุนจึงเป็นห่วงความชัดเจนในการตีความอาจไม่ถูกต้อง และรายจ่ายลงทุนซึ่งประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง เอกสารดูยากมาก ได้พิจารณารายละเอียดตามเอกสารเบื้องต้น ในหลักการที่นักวิชาการได้เสนอว่าร่ายจ่ายลงทุนที่ควรจะเป็นประมาณร้อยละ 30-35 ของงบประมาณทั้งหมด กรณีงบปี 64 รายจ่ายลงทุนตามหลักวิชาการควร ประมาณ 9.9 แสนล้านเศษ ถึง 1.15 ล้านล้านบาทเศษ ถึงจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับประชาชน “งบรายจ่ายประจำ” เป็นจุดอ่อนของการจัดงบประมาณ ที่สร้างความอ่อนแอให้ประชาชน หรืออาจเรียกว่า ‘ประชาชนล้มละลายด้านงบประมาณ’ เพราะเงินถูกใช้เป็นงบรายจ่ายประจำ (งบบุคลากรที่เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและงบดำเนินงาน) มากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 76.5 ของงบประมาณทั้งหมด ที่ไปใช้ในหมู่ราชการเท่านั้น หากพิจารณารายได้ปีนี้ แม้จะคาดการณ์ว่าเก็บภาษีได้ 2.67 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งมีผู้เกี่ยวกับออกมาสัมภาษณ์แล้วว่าไม่น่าจะเก็บถึง 2.5 ล้านล้านบาทเศษด้วยซ้ำ กรมสรรพากรกรมเดียวประมาณการเก็บภาษีต่ำขาดไปมากกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว ภาษีที่เก็บได้ยังไม่พอใช้รายจ่ายประจำที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน และงบประมาณดำเนินงานเรียกว่าภาษีอากรของประชาชนทุกบาทประเคนให้รัฐและข้าราชการใช้ทั้งหมด ที่เหลือต้องกู้มา เป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนร่วมกันใช้หนี้ ร่าง พรบฯ มีงบผูกพันข้ามปี ที่เป็นภาระมากเกิน เช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ หรือก่อสร้าง เมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากน่าจะเกิดเพดานร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ห้ามไว้ แต่ทราบว่ารัฐบาล และสำนักงบประมาณประดิษฐ์คำว่าขึ้นมารายการใหม่ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย คงต้องหาข้อยุติ มิเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกประเด็น คือ แผนงานบูรณาการ รัฐได้จัดงบทำซ้ำ ๆ มาหลายปีไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของแผนงานบูรณาการได้ ซึ่งความจริงควรจะประสบความสำเร็จภายใน 1-2 ปี หากไม่สำเร็จไม่ควรเรียกแผนบูรณาการ อาทิ - แผนบูรณาการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีนี้ ตั้งไว้ 6,286 ล้านบาทเศษ แต่ในมุมมองของประชาชนพบว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลับรุนแรงมากขึ้น หรือยิ่งบูรณาการยาเสพติดยิ่งเพิ่มนั่นเอง - แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยาวนาน เมื่อถามรัฐจะบอกว่าดีขึ้น แต่จากการวิจัยสำรวจของเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย ทุกปีติดต่อเป็นเวลา 5 ปี ถึงเดือนมีนาคม 2563 พบว่าประชาชนตอบว่าไม่ดีขึ้นเลย บางส่วนบอกตกต่ำลงกว่าเดิม ยิ่งบูรณาการแก้ปัญหาประชาชนยิ่งความหวาดระแวงไม่เชื่อมั่นรัฐสูงขึ้น - แผนบูรณาการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ที่แนวโน้มของธุรกิจต่าง ๆ นี้ โดยเฉพาะธุรกิจ ท่องเที่ยวก็ดี หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากวิกฤตโควิด-19 ควรมีการปรับเปลี่ยน สำคัญอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการ EEC ถ้ามีประมาณคน 21 คน ไม่มีคนในพื้นที่สักคน จะขาดความยุติธรรมกับเรื่องการพัฒนา มีข้อร้องเรียนการทรัพยากรที่ดินใช้โดยเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง จากที่ละ 1 ล้านบาท เป็นที่ละ 12-15 ล้านบาท เป็นจำนวนมาก แล้วคนที่ครอบครองที่คนนี้ไม่ใช่ประชาชน เแม้แต่ที่ดินราชพัสดุหรือที่ทหาร เช่น ที่แสมสาร โดยปกติประชาชนเช่าได้ 3 ปี แต่รัฐเอื้อให้คนอื่นเช่าได้ 50+49 ปี รวมเป็น 99 ปี แล้วคนที่เป็นคนยากไร้หรือชาวบ้านทำไม่ได้ ฯลฯ โดยส่วนตัวการพิจารณาของ กมธ วิสามัญฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพข้อมูลและข้อเท็จจริงต้องสมบูรณ์ อยากให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือบิ๊กดาต้าที่รัฐบาลมีอยู่มาช่วย และนำผลการตรวจบัญชีของ สตง.มาประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนตัวต้องการเห็นการจัดงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเป็นสวัสดิการถ้วนหน้ากับคนยากไร้ ควรชะลองบประมาณบางส่วนไปก่อนเนื่องจากต้องกู้เงินมาใช้ อาทิ การซื้ออาวุธ งบความมั่นคงงบรายจ่ายประจำที่ฟุ่มเฟือยอื่น ๆ และเพิ่มการลงทุนพื้นฐานที่เกิดประโยชน์กระจายโอกาสให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากรู้ปัญหาความต้องการดี เพื่อให้การจัดงบประมาณมีการกระจายความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”