มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คนที่ 3 โดยมีคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และสมาคมศิษย์เก่า และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ หอประชุมราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผศ.ดร.สมหมาย ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และนโยบายในการบริหารงานว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี ที่ทุ่มเท ตั้งใจถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์แห่งบ้านราชมงคล เพื่อให้แข็งแรงทั้งความรู้ และทักษะ เจตคติที่มีความพร้อมต่อความเจริญก้าวหน้าในอนาคต และสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย และแน่นอนว่ามีเป้าหมายให้ มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ เพื่อให้ตอบโจทย์โลกในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเครือข่ายสถานประกอบการมากกว่า1,500แห่ง ที่ร่วมในการพัฒนาเด็กให้พร้อมก่อนออกสู่ตลาด ทำให้ภาวะการมีงานทำของลูกศิษย์ มทร.ธัญบุรี ที่จบออกไปมีมากถึง 90% นี่ถือเป็นความสำเร็จและเป้าหมายที่ตนและทุกคนในมทร.ธัญบุรี ร่วมมือและอยากเห็น สำหรับทิศทางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากนี้มีเป้าหมายสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ซึ่งเหมาะกับพื้นฐานของมทร.ธัญบุรี ที่เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป้าหมายนี้ได้เริ่มมานานแล้วและมีการต่อยอดมากขึ้น และด้วยสภาวะโรคระบาดในขณะนี้ ทำให้สามารถเร่งดำเนินการได้มากขึ้นเพื่อสอดรับกับสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาและนำความรู้ไปพัฒนาประเทศได้ “เมื่อเรามุ่งเน้นที่จะสร้างนวัตกรรม ก็จำเป็นที่จำต้องมีนวัตกรที่ดี ซึ่งก็คือลูกศิษย์ของเรานั่นเอง ผมต้องการปั้นให้ลูกศิษย์ของผมทุกคนเป็นนวัตกร เป็นนักสร้างสรรค์ที่มีความรู้รอบด้าน ทั้งด้านภาษาต่างประเทศและไอที นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมต่างๆได้ ดังนั้น บุคลากรทุกคนต้องมีความพร้อมเช่นกันที่จะร่วมปั้นเด็กของเราให้พร้อม อาจเป็นงานที่หนักแต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่า เราอยากเห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกศิษย์ที่จบแล้วเขาได้ทำงาน ได้เงินเดือนไม่ใช่ในระดับปกติแต่ต้องเป็นกราฟที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ เราต้องฝึกให้เขาเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่ไม่ได้ลงมือแค่ 2-3 เดือน แต่ฝึกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในระดับปวช.และได้รับการฝึกเพิ่มเติมจากเราทำให้ถูกจองตัวจากสถานประกอบการมากมาย เป็นเครื่องยืนยันว่าลูกศิษย์ของเราเมื่อจบไปแล้วมีงานทำและตรงกับความต้องการ” ผศ.ดร.สมหมายกล่าวว่า ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019หรือโควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่ในขณะนี้ อาจส่งผลกระทบในการพัฒนาและผลิตบัณฑิตบ้าง แต่ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมการและมีแนวทางการจัดการอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนต้องปรับตัว หากมองให้เป็นโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 ก็จะเห็นว่าเราโชคดีในระดับหนึ่ง เพราะมีหลายอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการเปลี่ยนแปลงแต่ยังทำได้ช้า เช่น การส่งเสริมให้เรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ปกติยังทำได้น้อย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์บังคับนี้ทำให้เป็นตัวเร่งให้เราลงมือได้ทันที ขณะนี้สามารถเรียนออนไลน์มากกว่า 1 พันวิชาทีเดียว และให้นำรายวิชาต่างมาใช้พัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ทำให้อาจารย์มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองด้วย บุคลากรก็ต้องปรับตัวพร้อมๆไปกับนักศึกษาเช่นกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี “สำหรับ New Normal หรือความปกติใหม่ของมทร.ธัญบุรี แรกๆ มีความกังวลเพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกที่แต่ด้วยทิศทางที่เรามุ่งสู่มหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรมทำให้ได้เตรียมตัวมาบ้างแล้ว ในการใช้สื่อดิจิตอลต่างๆ มาประยุกต์และหยิบใช้นวัตกรรมที่มีให้เกิดประโยชน์ พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการเปิดเรียนปกติจะมีขึ้นวันที่ 13 ก.ค.นี้ แต่เราทดลองสอนแบบออนไลน์มาตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรามีบุคลากรที่พร้อมจะปรับตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ” อธิการบดีมทร.ธัญบุรีกล่าว *********************************************** สำหรับประวัติ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2504 ปัจจุบันอายุ 59 ปี สำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเคมี) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Master of Engineering (Applied Chemistry) Osaka Universityประเทศญี่ปุ่น Ph.D. in Engineering (Molecular Chemistry) Osaka University ประเทศญี่ปุ่น ได้รับทุนวิจัยหลังจบปริญญาเอก “STA” ณDepartment of Organic Materials, Osaka National Research Institute, AIST, Ministry of International Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น ทุนวิจัยหลังจบปริญญาเอก “NEDO” ณ Department of Organic Materials, Osaka National Research Institute, AIST, Ministry of International Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น ทุนวิจัยหลังจบปริญญาเอก “ITIT” ณ Department of Organic Materials, Osaka National Research Institute, AIST, Ministry of International Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น ทุนวิจัยหลังจบปริญญาเอก “Alexander von Humboldt” ณDepartment of Organic Chemistry, Bochum University, Bochum ประเทศเยอรมนี Visiting Professor at Institute of Advanced Energy, Kyoto University, Kyoto ประเทศญี่ปุ่น เคยดำรงตำแหน่ง รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กรรมการประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 5 (สิงห์บุรี, ลพบุรี, ชัยนาท, อ่างทอง) ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 กรุงเทพ และกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนธัญรัตน์ ปทุมธานี