43วันไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19ในประเทศ หลังล่าสุดไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม-ไร้ผู้เสียชีวิต ขณะที่ ไทยอยู่อันดับที่ 99ของโลกมีผู้ติดเชื้อ "สหรัฐฯ"ยอดพุ่งทะลุ 3 ล้าน หลังพบผู้ป่วยวันเดียว 6หมื่นราย ด้าน"เกาหลีใต้"โบ้ย "ยุโรป-สหรัฐฯ" ต้นทางแพร่ระบาดเข้าประเทศ ขณะที่"ฮู"ทบทวนโควิดแพร่ทางอากาศตามที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก 32 ประ เทศ ทำหนังสือแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (โควิด-19) หรือศบค. เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในประเทศไทย ว่า วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในประเทศและในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,195 ราย หายป่วยสะสม 3,072 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 58 ราย โดยไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อ ภายในประเทศติดต่อกัน 43 วัน ขณะที่ทั่วโลกยอดผู้ติดเชื้อรวม 11,739,171 ราย อาการรุนแรง 57,978 ราย รักษาหาย 6,642,366 ราย เสียชีวิต 540,660 ราย ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดคือ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 3,040,833 ราย โดยพบป่วยในวันเดียว 57,905 ราย 2. บราซิล จำนวน 1,626,071 ราย 3.อินเดีย จำนวน 720,346 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 687,862 ราย 5. เปรู จำนวน 305,703 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 ของโลก ด้าน กรมควบคุมโรคเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19รอบใหม่ มีต้นตอมาจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่เดินกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย.ซึ่งมีผู้เดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก ก่อนที่จะออกมาตรการควบคุมผู้เดินทางจากต่างประเทศ และบังคับกักตัว 14 วัน ทำให้ไวรัส นำเข้าในช่วงนั้น คือต้นเหตุของการระบาดในชุมชนขณะนี้ ขณะที่ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) กำลังพิจารณาทบทวนกรณีที่เชื้อไวรัสสามารถแพร่เชื้อทางอากาศ(Airborne)ได้ ตามที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวน 239 คน จาก 32 ประเทศ ทำหนังสือจดหมายเปิดผนึกส่งมาแจ้งเตือนต่อดับเบิลยูเอชโอ รายงานข่าวแจ้ง ว่า จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังเรียกร้องขอให้องค์การอนามัยโลกแก้ไขคำแนะนำที่มีมาก่อนหน้านี้ ว่า ไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านฝอยละออง(Droplet)จากน้ำมูก น้ำลายหรือสารคัดหลั่งในร่างกายของมนุษย์ พร้อมกันนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ยังแสดงหลักฐานว่าเชื้อไวรัสโควิดที่อยู่ในอนุภาคขนาดเล็ก สามารถทำให้คนติดเชื้อได้ ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กข้างต้น เล็กกว่าที่องค์การอนามัยโลก เคยระบุไว้