“สรท.”ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นหดตัว -10% จากเดิมคาด -8% จากผลกระทบโควิด-บาทแข็ง-ทั่วโลกล็อกดาวน์ เผยภาพรวมเดือน ม.ค.-พ.ค.63 ไทยส่งออก 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น.ส.กัณญภัค ตัณติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกในปีนี้หดตัว -10% จากเดิมหดตัว -8% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดส่งออกในหลายประเทศล็อกดาวน์ และปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังจากภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.63 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญได้แก่ 1.Global economic slowdown การหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศและอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาทิ กลุ่มสินค้ายานยนต์ ทั้งนี้ คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบ 2 และการประกาศใช้มาตรการ Lockdown ของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกอีกครั้ง 2.ปัญหา International logistics อาทิ อัตราค่าระวางปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ route อเมริกาจาก 2 สาเหตุ 1.อุปสงค์การส่งออกไปยังเส้นทางทรานส์แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวมาเท่ากับช่วงปกติ 2.สายเรือของไทยได้ Space Allocation ลดลง เนื่องจากมีการให้ Space ไปยังประเทศจีนมากกว่า เพราะสามารถทำราคาได้สูงกว่า ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ Space เรือที่ส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกาค่อนข้างแน่น ต้องจองระวางล่วงหน้า สายเรือจึงมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง และมีการเรียกเก็บค่า General Rate Increase (GRI)เพิ่มขึ้น อีกทั้งการจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลายทางยังคงมีอุปสรรค จากมาตรการ lockdown แต่ละประเทศทำให้เกิดส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ 3.ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ (default risk) ของผู้ประกอบการส่งออก จากการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้า เนื่องด้วยผลกระทบของการระบาดโควิด-19 บางประเทศมีการออกกฎเพื่อช่วยผู้ประกอบการในประเทศตน ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าของไทย ขาดสภาพคล่อง 4.ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากการไหลเข้าของเงินทุนสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดทุน ประกอบกับการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์จากแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจถึง -6.5% และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ที่ระดับ 30.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้า โดยเฉพาะในสถานการณ์ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น 5.ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 จากการชะลอตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลกซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 แม้ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงเดือนกรกฎาคมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งและเดินทางปรับตัวสูงขึ้น 6.ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงจากเขื่อนใหญ่ภายในประเทศที่มีค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณอุปทานในสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง และคุณภาพของสินค้าลดลงเนื่องด้วยความเสียหายจากภัยแล้ง