NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ เริ่มต้นสัปดาห์กันด้วยภาพ #แอนาเล็มมาของดวงจันทร์ ภาพถ่ายดวงจันทร์อีกรูปแบบที่เท่มากๆ #แอนาเล็มมา มีความหมายคือ รูปร่างที่โค้งเป็นเลข 8 มาจากการถ่ายภาพตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ที่เวลาเดียวกันในแต่ละวันตลอดระยะเวลา 1 ปี เกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีและมีแกนหมุนรอบตัวเองที่เอียง ดวงอาทิตย์จึงมีตำแหน่งปรากฏเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดวงจันทร์เองก็มีวงโคจรที่เอียงและเป็นวงรีเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์สามารถเกิดแอนาเล็มมาได้ แต่จะใช้เวลาน้อยกว่าเนื่องจากมีคาบการโคจรรอบโลกเพียง 29 วัน ซึ่งจะต้องทดเวลาในการถ่ายภาพให้ช้าลงประมาณวันละ 50 นาที เพื่อให้สอดคล้องกับการที่ดวงจันทร์จะขึ้นและตกช้าลงในแต่ละวัน เพื่อที่จะถ่ายภาพแอนาเล็มมาของดวงจันทร์ให้ได้นั้น György Soponyai นักดาราศาสตร์ชาวฮังการี จึงเลือกหมู่บ้าน Mogyoród ประเทศฮังการี เป็นสถานที่ในการถ่ายภาพ เนื่องจากมีสภาพอากาศที่ดีและใกล้บ้าน โดยเริ่มถ่ายตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 18 เมษายน 2563 แต่ในช่วงที่ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางหรือช่วงจันทร์ดับนั้นมีแสงที่สลัวมากเกินไปที่จึงไม่สามารถถ่ายภาพได้ สำหรับมุมมองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในภาพถ่าย ก็คือแสงไฟในช่วงค่ำคืนจากกรุงบูดาเปสต์ในวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรียบเรียง : นายดนุพล มากจาด - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap200507.html