คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก เปิดเผยว่า เว็บไซต์สหพันธ์ฯ https://bwfbadminton.com ได้รายงานผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย โคเวนทรี ประเทศอังกฤษ พบว่า การออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาแบดมินตัน ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็กได้ดีกว่า หลักสูตรวิชาพลศึกษาทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการในสหราชอาณาจักร โดยงานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดย มิเชล เจ ดันแคน และเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี โดยทดสอบกับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 6-9 ปี ทั้งหมด 158 คน จากโรงเรียนประถม 2 โรงในอังกฤษ เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จากการทดสอบครั้งนี้ เด็ก ๆ ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก จะได้เล่นแบดมินตันตามหลักสูตร ชัตเติ้ล ไทม์ (Shuttle Time) ของสหพันธ์แบดมินตันโลก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มที่ 2 จะได้ร่วมหลักสูตรเดียวกันแค่สัปดาห์ละครั้ง และกลุ่มสุดท้าย ยังคงเรียนวิชาพลศึกษาตามหลักสูตรทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยหลักสูตรหลังนี้จะเน้นฝึกกีฬาคริกเกตสัปดาห์ละครั้ง และฮอคกี้ กับบาสเกตบอล อีกสัปดาห์ละครั้ง ผลปรากฏว่า เด็กที่ฝึกเล่นแบดมินตันมีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (FMS) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของสภาพความฟิตโดยรวมของร่างกาย พัฒนาดีขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และทักษะนี้ยังคงอยู่กับเด็ก ๆ ต่อไปอีก 10 สัปดาห์หลังจากจบการทดลอง โดยเด็กกลุ่มแรก ที่เล่นแบดมินตัน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีพัฒนาการดีกว่าเด็กที่ร่วมโปรแกรมแค่ครั้งละสัปดาห์ ส่วนเด็กที่เรียนวิชาพลศึกษาตามหลักสูตรเดิมทั่วไป มีพัฒนาการน้อยที่สุด นักวิจัยระบุว่า การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน มีส่วนเชื่อมโยงกับสุขภาพดีตลอดชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี และความสำเร็จด้านการศึกษา พร้อมทั้งสรุปในตอนท้ายว่า การเล่นแบดมินตันตามหลักสูตรของสหพันธ์แบดมินตันโลก ถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาสุขภาพร่างกายที่ดีสำหรับเด็ก ทำให้พวกเขามีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่นำไปสู่การมีชีวิตที่กระฉับกระเฉงทั้งในช่วงที่ยังเป็นเด็ก และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต