วันที่ 3 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประขุม อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) พร้อมด้วย นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงความพร้อมการอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มชาวต่างขาติได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัวในสถานกักตัวที่รัฐบาลไทยกำหนด เป็นเวลา 14 วัน หรือกลุ่มฟาสต์แทร็ค นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 2) ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้อากาศยานที่ขนส่งบุคคลสามารถทำการบินมายังท่าอากาศยานในประเทศไทย รวมถึงบุคคลจะเดินทางเข้าประเทศไทยทางท่าอากาศยานต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศของ กพท. เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 7/2563 วันที่ 30 มิถุนายน 2563 และข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้มีการประสานการทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานราชการ สายการบินและผู้ปฏิบัติงานภายใน ทสภ. เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล เช่น การตั้งจุดคัดกรองของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ การจัดเตรียมพื้นที่ตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด - 19 ด้วยระบบการตรวจหาสารคัดหลั่งทางพันธุกรรม หรือ PCR ซึ่งมีความรวดเร็วและแม่นยำถึงร้อยละ 95 ที่สามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 90 นาที ในส่วนของ ทสภ. ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่บริเวณ Gate D3 และ D4 ไว้เป็นห้องพักคอยสำหรับผู้โดยสารที่ต้องรอผลตรวจ ซึ่งภายในห้องดังกล่าวมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมทั้งมีห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งน้ำดื่มไว้ให้บริการด้วย นอกจากนี้ ทสภ. ยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำผู้โดยสารในการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม (ใบ ต.8) การโหลด Application ติดตามตัว รวมถึงการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ด้วย สำหรับผู้โดยสารชาวไทยยังคงต้องผ่านกระบวนการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ตามมาตรการของรัฐและเข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ (State Quarantine) เป็นระยะเวลา 14 วัน เช่นเดิม ที่ผ่านมา ทสภ. ได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและด้านสาธารณสุข โดยเน้นย้ำในการดูแลรักษาความสะอาดในทุกพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน รวมถึงบริเวณพื้นที่จุดสัมผัสต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ลิฟต์ ทางเดินเลื่อน แบบ Deep Cleaning อย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการตั้งจุด Terminal Screening เพื่อตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายผู้ที่จะผ่านเข้ามาในอาคารผู้โดยสารทุกคน และได้ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการทุกคนต้องถือปฏิบัติตามวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) เมื่ออยู่ภายในอาคารผู้โดยสารและพื้นที่ท่าอากาศยานอย่างเคร่งครัดโดยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความแออัด ในพื้นที่ให้บริการต่างๆ และกำหนดให้ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในอาคารผู้โดยสาร เพื่อเป็นการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ด้าน น.พ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กล่าวว่า กลุ่มชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเงื่อนไขฟาสต์แทร็คนี้ จะต้องเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ ที่มีองค์กรต้นสังกัด หรือ หน่วยงานรัฐหรือเอกชนในประเทศไทยมีหนังสือเชิญหรือหนังสือรับรองให้เดินทางเข้าประเทศ มีกำหนดการเดินทางเข้า-ออกและตารางกิจกรรมที่จะทำระหว่างอยู่ในประเทศไทยชัดเจน มีผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19ใน 72ชั่วโมง ก่อนเดินทาง มีใบรับรองแพทย์ Fit to Fly มีประกันสุขภาพ ในการแจ้งลงทะเบียนเข้าประเทศไทยผ่านเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ในประเทศต้นทาง และเมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ห้องปฏิบัติการโซน G อีกครั้ง หากผ่านการคัดกรองก็จะเข้าสู่พิธีการตรวจคนเข้าเมือง และจะต้องทีมแพทย์/พยาบาลเอกชนที่ผ่านการอบรมกับกระทรวงสาธารณสุขติดตามตลอด 24ชั่วโมงเพื่อเฝ้าระวังอาการติดเชื้อ จนกว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในส่วนนี้องค์กรต้นสังกัด หรือ หน่วยงานรัฐหรือเอกชนในประเทศไทยมีหนังสือเชิญหรือหนังสือรับรองให้บุคคลดังกล่าวเดินทางเข้าประเทศต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ส่วนจำนวนชาวต่างชาติที่จะขอให้สิทธิเข้าประเทศด้วยเงื่อนไขฟาสต์แทร็ค ทางกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้กำหนดจำนวนคนเข้าประเทศในแต่ละวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ลงทะเบียนอยู่ ซึ่งมี 4ประเทศ 1เมือง ที่เป็นคู่ค้าของประเทศไทยให้ความสนใจเข้าร่วม คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง