ถอดรหัสโรงแรมดุสิตธานี ตำนาน 50 ปีสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่ผนึกทุกคุณค่าดั้งเดิมไว้ในดีไซน์ทันสมัย“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ” สถาปัตยกรรมระดับไอคอนิกแห่ง 5 ทศวรรษจากนี้ อาคารสถาปัตยกรรมมิได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบเพื่อให้เป็นไปตามฟังก์ชันการใช้งานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนยุคสมัยได้อย่างรอบด้าน เมื่อผนวกรวมเข้ากับการใช้งานที่เคลื่อนผ่านไปตามวันเวลา อาคารแต่ละแห่งย่อมเปี่ยมด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า ความผูกพัน และความทรงจำมากมาย การตัดสินใจทุบตึกใดตึกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกที่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ดังเช่นโรงแรมดุสิตธานี ย่อมผ่านการคิดใคร่ครวญและประเมินผลได้ผลเสียมานับครั้งไม่ถ้วน ห้าสิบปีกับการเป็นบ้านชั่วคราวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้วยมิตรไมตรีอันอบอุ่นแบบไทย ห้าสิบปีที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ย่อมเป็นห้าสิบปีที่ทุกความประทับใจผนึกแน่นอยู่ในเสาทุกต้น หน้าต่างทุกบาน ทุกฝ้าเพดาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องตัดสินใจทุบโรงแรมดุสิตธานี เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ทีมผู้บริหาร และพนักงานโรงแรมดุสิตธานีทุกคน แต่หากเชื่อว่าวิวัฒนาการหมายถึงการวิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คือการก้าวทันยุคสมัยอย่างชาญฉลาด คือการปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไหลบ่า โดยมีเป้าหมายคือเปิดบันทึกประวัติศาสตร์บทที่สองของโรงแรมดุสิตธานีในทศวรรษถัดไป นี่จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นหนึ่งในตำนานอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรก ๆ ของเมืองไทย เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณ โดยผสมผสานเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและโดดเด่น สำหรับ 50 ปีที่แล้ว โรงแรมดุสิตธานีเคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ออกแบบและตกแต่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป โจทย์ของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้บริหารเริ่มเล็งเห็นว่า ห้องพักขนาด 32 ตารางเมตร ซึ่งกว้างขวางโอ่โถงมากสำหรับยุคเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์สำหรับการจะเสริมบริการเพื่อสร้างประสบการณ์อันเหนือระดับให้แก่ลูกค้าให้สมกับการเป็นโรงแรมระดับโลกในทศวรรษใหม่แม้ทางโรงแรมเคยปรับปรุงด้วยการทุบผนังเพื่อขยายขนาดห้องมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างเดิมทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องได้ตามความต้องการ “หลังจากประกาศว่าจะทุบโรงแรมดุสิตธานี ผู้บริหารได้รับคำท้วงติงจากผู้คนมากมาย ต่างรู้สึกเสียดายที่โรงแรมซึ่งอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มายาวนานจะต้องถูกทุบเพื่อสร้างใหม่ ในฐานะพนักงาน พวกเราทุกคนเสียดายไม่ ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น ทีมผู้บริหารและพนักงานต่างผูกพันและหวงแหนอาคารสถาปัตยกรรมแห่งนี้ แต่เมื่อจำเป็นต้องทุบ ทีมผู้บริหารจึงประสานกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ว่าจะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และคณะโบราณคดี เข้ามาศึกษา ถอดรหัส และเก็บรายละเอียดภายในโรงแรม เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” กว่าแปดเดือนที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงวิเคราะห์ถอดรหัส และวิจัย เพื่อศึกษาแนวความคิดการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี โดย ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาวิจัยและถอดรหัสการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี กล่าวถึงการออกแบบโรงแรมดุสิตธานีว่า มีความน่าสนใจที่จะทำการศึกษา วิเคราะห์และตีความหลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่ที่มาของแนวความคิดในการออกแบบ ตลอดจนรูปแบบที่ปรากฏ ทั้งภายในภายนอก รวมไปถึงการแฝงไว้ซึ่งคติสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมความเชื่อของชาวไทย ที่ได้มีปรากฏอยู่ในการออกแบบอย่างแยบยล (โยโซ่ ชิบาตะ (Yozo Shibata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานี ได้ผสมผสานความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม คติความเชื่อ และวัฒนธรรมค่านิยม ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ modern architecture ของเมืองไทยในยุคนั้น โดยนอกจากได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณแล้ว แนวคิดการออกแบบในแง่ความทันสมัยเป็นสากลนั้น สถาปนิกได้เชื่อมโยงเข้ากับชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ส่วนในแง่ความเป็นไทย คือการจำลองสวรรค์ชั้นดุสิตมาสู่งานออกแบบ “ก่อนลงพื้นที่ คิดว่าสถาปนิกคงออกแบบโดยนำองค์ประกอบศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทยมาดัดแปลงให้ทันสมัยและเรียบง่ายสำหรับยุค 50 ปีที่แล้ว แต่หลังจากเข้าไปสำรวจอย่างละเอียด พบว่ามีคติสัญลักษณ์และความเชื่อซ่อนอยู่ในงานออกแบบมากมาย รวมถึงจำนวนตัวเลขและการแทนค่าเพื่อสื่อความหมายเชิญสัญลักษณ์ในการออกแบบหลายส่วน ได้แก่ เริ่มจากเลข 3 หมายถึง ไตรภูมิ เป็นแนวคิดในการแบ่งอาคารเป็นสามส่วนได้แก่ ส่วนฐานอาคาร ส่วนตัวอาคาร และส่วนยอดอาคาร โดยส่วนฐานอาคารหรือโพเดียมเปรียบเสมือนโลกบาดาล พบลักษณะของฐานบัว ใบบัว และกลีบบัวอยู่ในงานฝ้าเพดานของล็อบบี้ ในขณะที่ส่วนอาคารที่เหนือจากล็อบบี้ จะมองเห็นทาวเวอร์ จำนวน 16 ชั้น หมายถึง 16 ชั้นฟ้า ตามความเชื่อไทย ส่วนยอดหลังคามี 3 ชั้นซึ่งบริเวณอาคารส่วนนี้มีรูปลักษณ์คล้ายส่วนยอดของพระปรางค์ โดยยอดแหลมสีทองหมายถึงส่วนของพระปรางค์ หรือนภศูล ในขณะที่เลข 6 นอกจากจะอนุมานหมายถึง รัชกาลที่ 6 แล้ว เลข 6 ยังถูกนำมาใช้เป็นเรขาคณิตหลักในการถ่ายทอดแนวคิดสู่การออกแบบทั้งโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ผังตึกหลักหรือเมนทาวเวอร์ที่เป็นสามเหลี่ยม ซึ่งเมื่อตัดมุมจะกลายเป็นหกเหลี่ยมด้านไม่เท่า หรือแผนผังแบบรวมผึ้งรูปหกเหลี่ยมของโพเดียมและฝ้าเพดานส่วนล็อบบี้ หรือผังของสระว่ายน้ำรูปหกเหลี่ยม หรือผังของกรอบอาคารล้อมสวนรูปหกเหลี่ยม เป็นต้น ส่วนเลข 36 ไหมถึง ไตรภูมิ 36 ชั้น (16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน อบายภูมิ 4 มนุษย์โลก 1) ซึ่งพบเลข 36 ในจำนวนดอกประจำยามที่ซุ้มผนังภายนอกอาคาร หรือจำนวนหลังค่าจั่วของห้องพักที่อยู่รอบสวนของโรงแรม ซึ่งการย่อมุมไม้ 36 ซึ่งเป็นโครงสร้างของพระปรางค์วัดอรุณฯ อันเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบโรงแรม คือคำตอบที่คลี่คลายมาสู่การใช้จำนวนตัวเลขต่างๆ ในการออกแบบ โดยเลข 3 และ 6 เมื่อบวกกันได้ 9 ยังเป็นตัวเลขมงคลที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมชอบอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ความน่าสนใจคือ เป็นการตรวจสอบระหว่างความบังเอิญและความตั้งใจ เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบเสียชีวิตแล้ว” สำหรับดีไซน์ใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49) หรือ A49 แนวคิดหลักคือการสืบสานคุณค่าดั้งเดิม (Heritage) ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมาของโรงแรมดุสิตธานี โดยตีความและออกแบบเป็นอาคารสถาปัตยกรรมหลังใหม่ ผ่านชุดข้อมูลและงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อนำความทรงจำและความเรืองรองของตำนาน 50 ปีที่แล้ว มาสู่การเริ่มต้นประวัติศาสตร์ยุคที่ 2 โดยลดทอนรายละเอียดให้เรียบง่าย เน้นเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิต (Geometry) แต่ยังคงไว้ซึ่งความสูงค่า สง่างาม ควบคู่ไปกับความทันสมัยที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ที่เป็นทั้งย่านธุรกิจใจกลางเมือง (Central Business District หรือ CBD) และเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงข่ายรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน สมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า พื้นที่ 23 ไร่แห่งนี้จะประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูง 3 อาคาร เป็นการออกแบบประโยชน์ใช้สอยในลักษณะมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นไปตามศักยภาพของทำเลที่ตั้ง โดยประกอบด้วยโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัย ภาพรวมของโครงการทั้งหมดยังคงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี คือการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับไอคอนิก โดยนอกจากรูปทรงและรายละเอียดภายในอาคารแล้ว กลุ่มอาคารสูงอันได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะเป็นอาคารสีทอง เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส จะเป็นอาคารสีเทา และดุสิต เรสซิเดนเซส จะเป็นอาคารสีพิงค์โกลด์ เปรียบเสมือนอัญมณีสามกษัตริย์ ณ ใจกลางแยกพระราม 4 - สีลม ซึ่งเมื่อมองจากทางอากาศ โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะโดดเด่นไม่กลืนไปกับหมู่อาคารอื่นๆ “โครงสร้างสถาปัตยกรรมของโรงแรมดุสิตธานีใหม่ จะยังคงล้อไปกับตึกเดิมซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานคือล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัยบอลรูม ส่วนตัวอาคารคือห้องพักจำนวน 259 ห้อง จากเดิม 510 ห้อง และส่วนยอดเป็นรูฟท็อปบาร์ และยอดแหลมสีทองอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี ออกแบบในรูปทรงเดิมทุกประการ แต่ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับอาคารที่ใหญ่กว่าเดิม โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไป ในเวลาค่ำเมื่อเปิดไฟ จะมองเห็นเสาเดิมที่อยู่ด้านใน” ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นอาคารแรกในปี 2566 เอกลักษณ์และความสง่างามดั้งเดิมจะยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการนำของเดิมมาใช้ และการตีความแล้วออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย ซึ่งนอกจากจะผสานอยู่ในทุกรายละเอียดของอาคารใหม่แล้ว เรื่องราวที่เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของวงการโรงแรมและวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทย จะจัดทำเป็น Heritage Floor โดยนำรายละเอียดการออกแบบทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงานวิจัย ถอดรื้อ และเก็บหลักฐานไว้ก่อนทุบอาคาร มาจัดทำเป็นชั้นนิทรรศการถาวรเพื่อการศึกษาต่อไป