นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์เพื่อรับมือความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจในตลาดโลกที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและรักษาความสามารถในการทำกำไร ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะสร้างผลประโยชน์ให้บริษัทกว่า 5 พันล้านบาท โดยระยะสั้นในปี 63 ประกอบด้วย 1.Growth Strategy คาดการณ์ผลประโยชน์ให้บริษัทได้เพิ่ม 200 ล้านบาทได้แก่ โครงการขยายพลาสติก ABS เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 6,000 ตัน/ปี ในปี 63 และการร่วมทุนกับบริษัท บริษัทเจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (JPP) เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Thailand) ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ผ่านโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาด 12.5 เมกะวัตต์ 2.Productivity Improvement คาดการณ์ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นราว 1.2 พันล้านบาท ได้แก่ การดำเนินโครงการ E4E เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างกำไรส่วนเพิ่มจากการดำเนินธุรกิจทั่วทั้งองค์กร และโครงการ IRPC 4.0 ซึ่งนำระบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร สำหรับกลยุทธ์ระยะยาว Strengthen IRPC ซึ่งคาดการณ์ผลประโยชน์มากกว่า 3 พันล้านบาท ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆดังนี้เช่น โครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 66,เพิ่มช่องทางขนส่งน้ำมันทางท่อ,การขุดลอกร่องน้ำท่าเรือ ทำให้รับเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบ,การเพิ่มกำลังผลิตของสินค้าที่ได้มูลค่าเพิ่มสูง เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้เพิมขึ้นจากปัจจุบันที่ 55% เป็น 60% การปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นเพื่อให้รับน้ำมันจากตลาดอื่น นอกเหนือจากตลาดตะวันออกกลางเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด รวมทั้งมีแผนพัฒนาที่ดิน โดยจากที่ภาษีดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้แล้วก็ทำให้ บริษัทจ่ายภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นไม่มากนักจาก 54 ล้านบาทเป็น 63 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการ Breakthrough เพื่อให้พนักงานเสนอแผนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรเช่น โครงการลดการสำรองน้ำมันดิบ (Crude &Product Inventory) ช่วยลดต้นทุนของบริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปี (ปี 63-65)