อพท. ดึงท้องถิ่นอีสานใต้ เข้ามาร่วมส่งเสริมมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง หลังปลดล็อกโควิด-19 พร้อมเดินหน้าส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง วันที่ 3 ก.ค.63 สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดฝึกอบรมแบบกลุ่ม ครั้งที่ 1 (Group Training) การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กิจกรรมพัฒนาเครือข่าย อพท.น้อย โครงการพัฒนาและบูรณาการกลไกเครือข่ายการบริหารจัดการที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างมีเอกภาพ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 6 แห่ง ประกอบด้วย อบต. จ.บุรีรัมย์ 5 แห่ง และ จ.สุรินทร์ 1 แห่ง โดยมี ดร.วาสนา พงศาปานผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานพิธีเปิด ที่โรงแรมครอสทู ไวบ์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ อพท. มีแนวคิดที่จะเผยแพร่พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในทุกระดับ โดยมีการพัฒนามาตรฐานสำหรับใช้เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวคิดและแนวปฏิบัติสากล ที่มีชื่อว่า “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ซึ่งมาตรฐานนี้จะเป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้องค์กรที่มีการท่องเที่ยวทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมในทุกระดับทั้งภาครัฐ เอกชน สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวของตนเองได้อย่างเป็นระบบ มีแนวทางในการดำเนินงานสำหรับประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนภาคีให้ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน นางสาวสุมณตา ก่อแก้ว จนท.พัฒนาพื้นที่พิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท.2) กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ จะช่วยให้แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการกับ อพท.ได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการจนเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ช่วยป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับทรัพยากรการท่องเที่ยว ในส่วนขององค์กรเองก็จะได้รับการเพิ่มศักยภาพและสร้างข้อได้เปรียบการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับองค์กรของตน ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปอย่างแพร่หลาย และสุดท้ายคือชุมชน ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น นำมาซึ่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง” สำหรับมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว กำหนดทิศทางการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจกำหนดออกมาเป็นนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ มีคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว มีการจัดการด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน สนับสนุนศักยภาพชุมชน จัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม ส่งเสริมการตลาด ติดตามความเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเผยแพร่แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังภาคีที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความรู้ ความสามารถ และความตระหนักให้บุคลากร สื่อสารและการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจากช่องทางต่างๆ ติดตามผลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปรับปรุงและทบทวน การดำเนินงานให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง