รักษาการดีดีบินไทย รุกทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางวันที่ 17 ส.ค.นี้ ขณะที่การเปิดบินรอการเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น เพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เบื้องต้นแผนฟื้นฟูจะมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเชื่อว่ามีช่องทางที่จะสามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหนี้ และลูกหนี้ “แผนฟื้นฟูขณะนี้ยังต้องรออีกระยะหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย เรามีที่ปรึกษาอยู่แล้ว โดยเตรียมไปยื่นศาลล้มละลายกลางวันที่ 17 ส.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้ละเอียดมาก เอาแค่ให้ศาลฯเห็นภาพว่าเราจะเดินอย่างไรต่อไป เราต้องพยายามทำให้เร็วที่สุด เราอยากทำให้เร็ว แต่บางครั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพการแข่งขันมีเยอะ และความร่วมมือของกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องได้รับความร่วมมือทุกฝ่าย” โดยขณะนี้การบินไทยตั้งที่ปรึกษาเพื่อช่วยดูแลในด้านต่างๆอย่างด้านกฎหมายจะมีบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ,ที่ปรึกษาด้านบัญชีมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ขณะที่บล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน รวมถึงยังมีที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบินอีกด้วย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูในเบื้องต้น สำหรับการบินไทยพยายามดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหนี้มีการหารือตลอด ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ของกลุ่มสหกรณ์,การเช่าเครื่องบิน,เงินกู้ธนาคาร,น้ำมัน รวมถึงลูกค้าที่จองซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วแต่ยังไม่ได้เดินทาง เชื่อว่าจะมีช่องทางในการดำเนินการได้ เพราะตามกฎหมายล้มละลายที่เปิดช่องให้มีการฟื้นฟูกิจการมีไว้สำหรับให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการเบื้องต้นเห็นว่ามีหลายแนวทางเพื่อให้มีความเหมาะสมเช่น ในส่วนของสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่าก็ต้องวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงธุรกิจใดที่แข่งขันไม่ได้ ก็มีโอกาสที่จะเปิดให้เป็นการร่วมทุนหรือไม่ ตลอดจนการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งอาจต้องมีการลดทุนหรือเพิ่มทุน ขณะที่การกลับมาเปิดทำการบินของสายการบินไทยนั้นต้องรอทางการออกประกาศเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการก่อน แต่ขณะนี้การบินไทย ซึ่งเน้นการบินระหว่างประเทศเตรียมพร้อมกลับมาเปิดทำการบินให้เร็วที่สุด ขณะที่ภาระหนี้น้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักของสายการบินนั้น ในส่วนหนี้เก่าค้างจ่าย บมจ.ปตท. (PTT) ต้องคงค้างไว้ก่อนหลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการเปิดบินต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป