"เสี่ยหนู"ยังไม่ได้รับสัญญาณปรับ ครม.หลังพรรคได้ส.ส.เพิ่มขึ้น ระบุขึ้นอยู่กับนายกฯ ตราบใดที่ยังไม่มีการเรียกไปหารือหรือส่งสัญญาณอะไรมา ก็อย่าเพิ่งไปยึด ด้าน"สมศักดิ์"เชื่อปรับครม.ไม่ใช่เร็วๆ นี้ ระบุไร้สัญญาณจาก"นายกฯ" ยันศึกภายใน"พปชร."จบแล้ว ทุกคนรักกันดี หลัง"บิ๊กป้อม"คุมเอง ขณะที่"สมคิด"งดตอบปมการเมือง บอกสื่อ"ไม่ต้องถามเลยนะจ๊ะ" ส่วนศึกอภิปรายฯงบ 64 วันที่สองจืด "ส.ส."รุมสับสำนักงบฯ ทำตัวเป็นฝ่ายบริหาร "สุทิน" รับผิดหวัง"บิ๊กตู่"แจงงบฯ 64 เลื่อนลอย-ไม่รู้เรื่อง ขณะที่กมธ.ชงปปช.ฟันนายกฯ-ครม.ปมถวายสัตย์ ขัดม.157 เมื่อวันที่ 2ก.ค.63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย หลังมีจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้นจาก 52 เป็น 61 คน จะต้องได้โควตารัฐมนตรีเพิ่มหรือไม่ ว่า ยังไม่ได้มีการคุยเรื่องนี้ และอย่าลืมว่าสิทธิ์ในการปรับครม.ขึ้นอยู่กับนายกฯ ตราบใดที่ยังไม่มีการเรียกไปหารือ หรือส่งสัญญาณอะไรมา ก็อย่าเพิ่งไปยึด ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากนายกฯเรื่องการปรับครม. อย่าพึ่งพูดดีกว่า แต่ยืนยันว่าการปรับครม.ไม่เร็ว นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงความขัดแย้งภายในพรรค พปชร. ว่า ทุกอย่างเรียบร้อย สงบ รักกันดีทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เข้าใจและไม่มีปัญหาแล้ว รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ยังคงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เรื่องการพูดยุบสภาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบการที่นายชัยวุฒิ ออกมาพูดเนื่องจากมีคำว่ายุบสภา และทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็ออกมาพูดในประเด็นการยุบสภา เพราะส.ส.คงไม่อยากให้มีการยุบสภาในขณะนี้ อย่างไรก็ตามภายในพรรคขณะนี้ไม่มีอะไรแล้ว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็เป็นกันเองกับทุกคน ส่วน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวภายหลังหารือกับ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราช ทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่เข้าเยี่ยมคารวะว่า "เราคุยในเรื่องสำคัญเท่านั้นนะ ไม่ต้องถามเลยนะน้องจ๋า" ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 วาระแรก วงเงิน 3.3ล้านล้านบาท วันที่สอง โดยบรรยากาศการอภิปรายในช่วงเช้าเป็นไปอย่างจืดชืด ส.ส.หลายคนอภิปรายในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยพุ่งเป้าตำหนิ การทำงานของสำนักงบประมาณที่ตัดงบไม่สมเหตุผล โดยเฉพาะงบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอมาถูกตัดทิ้งเป็นจำนวนมาก ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรร คร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ภาพรวมในการประชุมวันแรกเป็นการอภิปรายในภาพรวม โดยการชี้แจงของนายกฯ ส่วนตัวมองว่ายังเหมือนเดิม และรู้สึกผิดหวัง ทั้งเรื่องการนำเสนอ และรูปแบบต่างๆ ยังคงเป็นแบบเดิม คือพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และเร็วเกินไป ใช้วิธีการอ่านเอกสาร เพื่อให้จบ ในส่วนการแก้ข้อกล่าวหรือการอธิบายข้อกังวล ก็ทำได้ไม่ดี โดยเฉพาะการใช้เหตุผลว่า เศรษฐกิจก็เป็นแบบนี้ เป็นตัวเลข เหมือนกับไม่มีการยอมรับสภาพ ความเป็นจริง เช่นเรื่องการย้ายฐายการผลิต นายกฯก็ชี้แจงว่า ไปตรวจสอบแล้วยังไม่เห็นมีการย้ายฐานการผลิต เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย พูดเช่นนี้เหมือนไม่รู้ ถือเป็นการพูดที่เลือนลอย ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านขู่ว่าจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯฉบับนี้ ว่า ตามกฎหมายมีอำนาจอยู่ 3 อย่าง คือ 1.เห็นชอบ 2.ไม่เห็นชอบ แล3.งดออกเสียง เมื่อถามย้ำว่า หากถูกคว่ำจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "คุณก็รู้ว่าหากเสียงส่วนใหญ่โหวตคว่ำ มันก็คว่ำ รัฐบาลก็ลาออก หรือยุบสภา ผลมันเป็นแบบนั้น เพราะเท่ากับสภาไม่ไว้ใจ" เมื่อถามว่า คงไม่ถึงขั้นนั้นใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ ต้องดูวันที่ 3 ก.ค. ที่จะมีการลงมติ เมื่อถามอีกว่า มันจะเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวเรื่องการยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุ ย้อนถามว่า "ใครพูด ผมไม่เห็นมีกระแสอะไรเลย" นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ โอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ มิชอบว่า คดีนี้แตกออกเป็นหลายอย่าง ในส่วนของการคืนตำแหน่งจบไปนานแล้ว หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ซึ่งนายถวิลไม่ได้ติดใจ ส่วนการชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นเรื่องของคดีอาญา ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่ในประเทศจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีคดีเยอะแยะที่จำเลยไม่อยู่ ซึ่งสามารถพิจารณาคดีได้ แม้เจ้าตัวไม่อยู่ก็ตาม ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทาง กกต.ได้รับทราบความคืบหน้าของการรับเรื่องร้องเรียนว่าขณะนี้มีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 เรื่อง ในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง คือเรื่องการใช้เงินซื้อเสียง และเจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลาง กรรมการได้รับทราบเบื้องต้นและให้สำนักงานไปดำเนินการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วจึงเสนอที่ประชุมกกต.อีกครั้งใน 2 สัปดาห์หน้า เพราะข้อมูลที่มีในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่กกต.จะต้องพิจารณาว่าประกาศผลได้หรือไม่ โดยตามกฎหมาย กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน ตามกฎหมายเขียนว่า เมื่อได้ตรวจสอบเบื้องต้น และมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตก็ให้ประกาศผลได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ฉะนั้นจึงต้องดูข้อมูลเบื้องต้นก่อน ถ้าเรื่องที่มีการร้องไม่กระทบให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ก็สามารถประกาศได้ หรือถ้าหากมีการประกาศรับรองผลไปก่อนแล้วพบว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตก็สามารถเอาผิดทีหลังได้ ส่วนการจัดการเลือกตั้งส.ส. เขต 5 จ.สมุทรปราการใหม่นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้กกต.ได้ประสานไปยังรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องของการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีพ.ร.ฎ.แล้วกกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 9 ส.ค. ทั้งนี้ก็ต้องรอว่าพ.ร.ฎ.ออกเมื่อใด ส่วนการจัดการเลือกตั้งสิ่งที่ยังต้องกังวลอยู่คือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งเราก็มีแนวทางในเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง โดยจะใช้วิธีการจัดการเลือกตั้งเช่นเดียวการเลือกตั้งลำปาง ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาฯเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช.ทำหน้าที่ประชุม ปรากฏว่า ในระเบียบวาระที่ 4.7 กรณีนายกฯ และครม.ถวายสัตย์ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นที่นายกฯนำครม. เข้าถวายสัตย์ ได้กล่าวถ้อยคำไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 161 โดยขาดถ้อยคำตั้งแต่ "ให้รักษา............."และเติมคำว่า "ตลอดไป" เข้าไป ซึ่งจากการรวบรวมข้อเท็จจริงกล่าวไม่ถูกครบถ้วนและ ภายหลังการพิจารณาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำการะเว้น ตามมาตรา 157 ดังนั้น กมธ. ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณา ดำเนินการไต่สวน นายกฯ และรัฐมนตรี ตามมาตรา157 และการไม่ปฏิ บัติตามประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปี 2560 เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายตอไป