สุภาษิตญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า "คนแปลกหน้าที่อยู่ใกล้ ดีกว่าญาติที่อยู่ไกล" หมายความว่า เพื่อนบ้านข้างเคียงที่แม้จะไม่ใช่ญาติพี่น้อง แต่จะเป็นที่พึ่งได้มากกว่าญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล หรือมีความหมายว่า คนที่สนิทสนมกัน แม้จะไม่ใช่ญาติ แต่จะเป็นที่พึ่งได้มากกว่าญาติที่ขาดการติดต่อกัน แล้วจะนับอะไรกับ "ไทย" และ "เมียนมา" เพื่อนบ้านที่มีชายแดนร่วมกัน 2,401 พันกิโลเมตร สองชาติที่นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ประเทศที่มีวิถีชีวิต ค่านิยม คุณค่า ที่ละม้ายคล้ายคลึง และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาช้านาน "ความสัมพันธ์ไทย - เมียนมา วันนี้อยู่ในระดับที่ดีเลิศ" นี่คือคำกล่าวที่ "นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์" อัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้การยืนยันในระหว่างพูดคุยแลกเปล่ยนความคิดเห็นกับคณะสื่อมวลชนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (The National Press Council of Thailand) ที่เดินทางเยือนเมียนมา ตามคำเชิญของสภาสื่อมวลชนเมียนมา (Myanmar Press Council) นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ อัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะสื่อมวลชนไทย โดย ปี 2559 ที่ผ่านมา ตัวเลขการค้าระหว่างไทย กับเมียนมา อยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เป็นไทยส่งออกมูลค่า 1.33 แสนล้านบาท และนำเข้าจากเมียนมา 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งไทยได้ดุลการค้า 5.5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมการค้าชายแดนที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกของระบบ และในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเมียนมา และถือเป็นคู่ค่าอันดับ 1 หากนับเฉพาะประเทศในอาเซียน นายณรงค์กล่าวว่า ไทยกับเมียนมามีความร่วมมือในทุกสาขาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ล่าสุดรัฐมนตรีในรัฐบาลเมียนมาหลายคนต่างแสดงความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนจากไทย เนื่องจากในอดีตเมียนมามีปัญหาคล้ายๆ กับไทยคือการปลูกพืชยาเสพติดอย่างฝิ่น ซึ่งตอนนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ร่วมกันดำเนินโครงการปลูกพืชทดแทนตามพื้นที่แนวชายแดน และทางเมียนมาเองก็สนใจโครงการส่งเสริมการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการน้อมนำเอาแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ที่ไม่เพียงส่งเสริมความเป็นอยู่คนไทยเท่านั้น แต่พระบารมียังแผ่ปกคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ในระดับรัฐบาล ไทย และเมียนมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันเป็นประจำ โดยในช่วงที่นางออง ซาน ซูจี ไปเยือนประเทศไทย ก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระดับรัฐบาล ทั้งสองประเทศมีท่าทีให้ความร่วมมือ และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน "ประเทศเพื่อนบ้านคือมิติแรกที่กระทรวงต่างประเทศให้ความสำคัญที่สุด" สิ่งหนึ่งที่ไทย เมียนมาเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ก็คือเรื่อง "แรงงาน" ประเทศไทยต้องการแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้มีคุณูปการต่อประเทศเราอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายๆ งานคนไทยไม่ทำแล้ว แรงงานจากเพื่อนบ้านเองก็ต้องการที่จะเข้ามาทำมาหากินในประเทศเรา สำหรับแรงงานเมียนมา ตลาดไทยยังเป็นที่ทำงานสำคัญ แม้จะมีการพัฒนาในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ทวาย มะริด แต่งานที่เมืองไทยเปิดกว้างกว่า สำหรับแรงงานเมียนมาทุกระดับ แม้แรงงานไร้ฝีมือก็เข้าไปได้ นายณรงค์กล่าวว่า เรามีนโยบายชัดเจนว่า แรงงานเมียนมาในไทยต้องได้รับการดูแลเหมือนกับแรงงานไทย โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ทางกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกในการออกบัตรเพื่อผ่อนปรนให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เพื่อที่จะสามารถดูแลได้ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ การทำงานที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเห็นความสำคัญ และให้การดูแลกับคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับ "นายกวี จงกิจถาวร" คนไทยที่ไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมียนมา ไทม์ส อยู่ในขณะนี้ บอกได้เต็มปากเต็มคำชัดเจนว่า "หากวันนี้สัมพันธ์สองประเทศไม่ดีจริง ตัวเขาเองคงไม่สามารถมานั่งตรงนี้ได้" นายกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์สร่วมแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชนไทย บรรณาธิการเมียนมา ไทม์ส กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย - เมียนมา ก้าวมาสู่ในจุดที่ดีที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มาจาก 3 ประการได้แก่ ความน่าเชื่อถือของไทยในเรื่องชนชาติพันธุ์ จากตั้งแต่ตอนที่นายพลเนวินขึ้นมามีอำนาจในปีค.ศ. 1962 ก็คิดมาตลอดว่า ไทยพยายามทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอ ซึ่งตลอดเวลาเราก็พลาดที่ไม่เคยอธิบายชัดเจน จนมาถึงช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่เรามีโอกาสพิสูจน์ว่า เราไม่มีนโยบายสนับสนุนชาติพันธุ์ ตอนนี้จึงเกิดความน่าเชื่อถือมี ทำให้เขาเชื่อใจเรามากขึ้น อันนี้ถือว่าสำคัญมาก "ตอนนี้จีนเริ่มมีบทบาทสูงขึ้นในแผนสันติภาพของเมียนมา โดยบังคับให้กลุ่มทางเหนือมาร่วมกระบวนการ แต่ไทยช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย - เมียนมาให้มาเข้าประชุมถึง 10 ครั้งแล้วในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ในการที่บอกว่าเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งตรงนี้คนรู้น้อยมาก" ต่อมาก็เป็นเรื่องแรงงาน ซึ่งนายกวีกล่าวว่าถือว่าเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ด้วยการที่มีแรงกดดันจากการเปิดประเทศเพื่อนบ้าน การดูแลคนทำงานพม่า 2.1 ล้านคน ให้ได้จดทะเบียน ซึ่งถ้าดูแลไม่ดี TIP Report เราก็ถูกกด แต่ตอนนี้ทำได้ดีมากภายใน 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง แต่เป็นแรงงาน และแรงงานจะเป็นสิ่งที่จะปฏิรูปอาเซียน เพราะว่าอีกหน่อยเรื่องการบริการจัดการชายแดน กฎหมายแรงงาน ประเทศไทยทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้เป็นตัวอย่างแล้ว และประการสุดท้ายคือ เมียนมาต้องเชื่อมกับไทย ในการที่ให้ไทยช่วยเหลือเป็นประตูสู่อาเซียน "3ปี แล้ว คนวิเคราะห์ไม่ถูก คนไปวิเคราะห์ว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม ชอบธรรมหรือไม่เป็นประเด็นก็จริง แต่ความสำคัญอยู่ที่ภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยตอนนี้จากซีโร่ เป็นฮีโร่" ความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลที่ดีแล้ว ภาพลักษณ์ที่ดี ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันก็มีแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนก็ดีขึ้นเยอะมากเช่นกัน วันนี้คนไทยมาเมียนมาเยอะมาก หลังจากฟรีวีซ่า นักท่องเที่ยวไทยชอบมาไหว้พระ แต่กระนั้นรัฐบาลยังจะต้องสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนต่อไป คนเมียนมาและคนไทยต่างมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นายกวีเตือนว่า แม้ความสัมพันธ์ในวันนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก แต่ก็ต้องระมัดระวัง ต้องประคับประคองกันไป เพราะต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากัน ต้องพึงระวังไม่ให้มีปัจจัยอ่อนไหวอะไรเข้ามาทำให้เกิดความกระทบกระเทือน โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ อย่างละครโทรทัศน์ที่สร้างผลกระทบได้มาก เพราะแม้สัมพันธ์จะดีจริง แต่ก็ยังเปราะบางอยู่ไม่น้อย