คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ถึงแม้ว่า “ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น” จะประกาศยกเลิกระบบทาสในสหรัฐฯไปนานกว่า 155 ปีแล้วก็ตาม แต่ความไม่พึงพอใจของคนผิวสีที่มีต่อคนผิวขาวก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ โดยคนผิวสียังคงมีความคิดติดอยู่ในขั้วของหัวใจว่า “พวกตนต้อยต่ำอยู่คนละชนชั้นกับคนผิวขาว” และหากจะนับระบบทาสที่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 1619 จนถึงปัจจุบันแล้วนั้น ถือว่ายาวนานถึง 246 ปี ก่อนหน้าที่จะมีการเลิกทาสคนผิวขาวถือว่า “คนผิวสีเป็นเพียงสมบัติในเรือนที่อยู่ภายใต้อาณัติไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงใดๆทั้งสิ้น” ถึงแม้ว่าเรื่องราวการแบ่งชนชั้นเหยียดสีผิวจะค่อยๆลบเลือนหายไปแล้วก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหม่ขึ้นที่มีพลังมหาศาลสามารถปลุกจิตวิญญาณกระตุ้นให้ชนผิวสีลุกฮือ จนเหตุการณ์ในครั้งนี้จำต้องจดบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมสหรัฐอเมริกา ในเรื่องราวการเอ่ยปากร้องขอชีวิตว่า “ข้าพเจ้าหายใจไม่ออก”ของ “จอร์จ ฟลอยด์” ขณะที่ตำรวจผิวขาวนายหนึ่งใช้เข่ากดคอนานกว่าแปดนาที จนทำให้เขาต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ และเมื่อข่าวน่าสะเทือนใจนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมาในโลกโซเชียล ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายเรื่องราวไปในวงกว้างจนถึงทุกวันนี้ โดยสำนักหยั่งเสียงสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่เอบีซีได้ออกมาเปิดเผยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ว่า คนอเมริกันทั้งคนผิวสีและผิวขาวและทุกๆเชื้อชาติต่างคิดว่า คนผิวสีไม่ได้รับความยุติธรรม ที่มีมากถึง 74% อีกทั้งคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองว่า “เหตุการณ์ที่เกิดจากน้ำมือของตำรวจที่กระทำต่อจอร์จ ฟลอยด์ ในครั้งนี้ มิใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับคนผิวสี” และยังเป็นที่น่าสนใจอีกด้วยว่าผู้เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้มาจากทุกเชื้อชาติ โดยมุ่งชูประเด็นเรียกร้องขอความเป็นธรรมและขอให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกระทำอันน่าสะพรึงกลัวของตำรวจ!!! ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบสองเดือนแล้วก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าการประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมยังคงไม่ยุติลงไปง่ายๆ กลับขยายวงกว้างและเรื่องราวกลับแปรเปลี่ยนกลายเป็นมหากาพย์ครั้งใหญ่ ซึ่งเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆอย่างน่าวิตกกังวล อย่างไรก็ตามขณะนี้การชุมนุมของเหล่าบรรดาผู้ประท้วงได้ขยายวงกว้างแพร่กระจายจนมีเรื่องราวโยงใยไปถึงประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาหลายๆคนที่ในอดีตเคยเป็นเจ้าของทาส โดยต่างกล่าวว่าผู้นำในอดีตเหล่านี้คือการบ่งบอกถึง “สัญลักษณ์แห่งการแบ่งชนชั้นและสีผิว” ทั้งนี้อดีตของสหรัฐฯที่ผ่านมาระบบทาสถือว่า ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯยุคแรกๆทั้ง 12 คนต่างก็มีทาสอยู่ในครอบครองแทบทั้งสิ้น อาทิเช่น “ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน”ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่เขามีทาสอยู่ในครอบครองถึง 317 คน “ประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สัน” มีทาสอยู่ในความครอบครองกว่า 600 คน และยังมีข่าวปรากฏออกมาในหน้าประวิติศาสตร์ของสหรัฐฯอีกด้วยว่า ประธานาธิบดีผู้นี้มีลูกกับทาสสาวคนหนึ่งชื่อว่า “แซลลี่ เฮมมิงส์” แถมยังผลิตลูกออกมาถึงหกหน่อด้วยกัน ซึ่งเรื่องราวนี้ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ในปี 1995 อีกด้วย!!! “ประธานาธิบดีเจมส์ เมดิสัน” ก็มีทาสในครอบครองกว่าร้อยคน “ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรว์” มีทาสอยู่ในครอบครอง 75 คน และ “ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน” ที่ได้รับการขนานนามว่า “ประธานาธิบดีผู้ติดดิน กินแฮมเบอร์เกอร์” หรือ“The Common Man President” แต่กลับปรากฏว่า เขามีทาสอยู่ในครอบครองถึง 200 คน ส่วน “ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์” ประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐฯ กลับไม่ต้องการมีทาสอยู่ในครอบครองทำนองเดียวกับบุตรชาย “ประธานาธิบดีจอห์น ควินซี แอดัมส์” ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่หกของสหรัฐฯ สำหรับ“ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น” ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯมองว่า การมีทาสไว้ในครอบครองเป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียน และยังเป็นการผิดศีลธรรมอีกด้วย!!! อนึ่งขณะนี้ยังมีบุคคลสำคัญๆในอดีตที่กำลังถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มผู้ประท้วงว่า “เป็นพวกเหยียดสีผิว” ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ได้ถูกกลุ่มผู้ประท้วงเข้าไปโค่นทุบทำลายไปแล้วอาทิ รูปปั้นของ “ประธานาธิบดีเทดดี รูสเวลท์” ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นผู้เหยียดสีผิวตัวฉกาจ” หรือแม้กระทั่งอนุสาวรีย์ของ “ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน” ที่เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว ก็อยู่ในข่ายที่กลุ่มผู้ประท้วงต้องการจะทำลาย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกรรมการสภามหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้มีมติเอาสัญลักษณ์ต่างๆของประธานาธิบดีวิลสันออกไป เพราะคณะกรรมการสภาฯเล็งเห็นว่า “แนวความคิดและทัศนะคติของประธานาธิบดีวิลสันส่วนใหญ่มีแนวโน้มด้านการเหยียดสีผิว” แม้กระทั่งรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ของ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ผู้บุกเบิกสหรัฐอเมริกาก็ถูกทำลายไปแล้ว ที่นครบอสตัน โดยรูปปั้นของเขาถูกตัดศีรษะ เพราะกลุ่มผู้ประท้วงมองว่า เขาคือนักค้าทาสตัวยง ที่มีนิสัยทารุณโหดร้าย ทั้งนี้การที่ผู้ประท้วงโค่นและทำลายอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำที่สนับสนุนระบบทาสนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมากล่าวประณามการกระทำครั้งนี้ว่า “เป็นฝีมือของพวกโง่เขลา” อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ที่แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษให้ทุกๆหน่วยงานหามาตรการคุ้มกันปกป้องอนุสาวรีย์แห่งชาติและรูปปั้นของบรรดาบุคคลสำคัญๆของฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาหรือฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีลินคอล์น และหากผู้ใดฝ่าฝืนเข้าไปทำลายจะได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปี!!! อีกทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ยังออกมายืนกรานคัดค้านไม่ให้เปลี่ยนชื่อฐานทัพที่ตั้งตามชื่อของเหล่านายพลฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาหรือฝ่ายใต้ในศึกสงครามกลางเมืองที่ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีลินคอล์นด้วยเช่นกัน เนื่องจากพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันให้ย้ายอนุสาวรีย์ของเหล่าผู้นำฝ่ายใต้ที่มีพฤติกรรมสนับสนุนระบบทาส คราวนี้หันกลับมาดูคะแนนนิยมระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน กันดูบ้าง ที่ปรากฏออกมาว่าขณะนี้โจ ไบเดน กำลังมีคะแนนนิยมนำหน้าอยู่ถึง 14% ส่วนคะแนนอิเล็กโทรัล โหวต ซึ่งถือเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้รับชัยชนะเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 นั้น จากการประเมินของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ร่วมกับ Sierra College เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนเปิดเผยออกมาว่า หากมีการเลือกตั้ง ณ ปัจจุบัน อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะมีคะแนนอิเล็กโทรัล โหวตอยู่ที่ 333 คะแนนจากทั้งหมด 538 คะแนน ซึ่งในการแข่งขันเพื่อได้รับชัยชนะต้องการเพียง 270 คะแนนเท่านั้น ถือว่าไบเดนได้รับเกินที่ต้องการไปแล้วถึง 66 คะแนน!!! ส่วนไฟแนนเซียลไทมส์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนนี้ได้ประเมินครั้งล่าสุดว่า โจ ไบเดน จะได้รับคะแนนอิเล็กโทรัล โหวตถึง 307 คะแนน แต่ประธานาธิบดีทรัมป์จะได้รับเพียง 148 คะแนนเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าเม็ดเงินก็เป็นอาวุธสำคัญ ที่ต้องใช้ในการหาเสียง ซึ่งปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเม็ดเงินบริจาคในกองทุนหาเสียงไปแล้วเกือบหนึ่งพันล้านเหรียญ ส่วนโจ ไบเดน นั้นได้รับบริจาคเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง อีกทั้งการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเอ่ยปากกล่าวอ้างออกตัวอยู่เสมอๆว่า “การขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศถือว่า ไม่ผิด” ซึ่งมองๆไปแล้วย่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นระบบทาสในอดีตที่ผ่านมา ถือเป็นประเด็นที่แสนละเอียดอ่อนและคงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คนอเมริกันจะใช้ตัดสินใจว่า จะเลือกใคร? ที่จะเข้าไปประสานรอยร้าวทำให้วิกฤติครั้งนี้คลี่คลายไปได้ดีที่สุด และหากประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะเล่นนอกกติกาเพื่อพลิกเกมให้ตนเองชนะ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดละครับ