ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ต่างทยอยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัส พวกเขาก็สามารถซื้อของที่ถูกใจได้ทันที ถึงกระนั้นเอง วิถีการจับจ่ายที่ทำให้เสียทรัพย์ไปง่ายดายเช่นนี้ กลับทำให้วัยรุ่นต้องสรรหาวิธีการออมเงินเพื่อมาเติมเต็มรายได้ส่วนที่หายไปด้วยเช่นกัน โดยการออมเงินด้วยวิธี “ลงทุนในหุ้น” ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างกำไรให้แก่พวกเขาได้เป็นกอบเป็นกำ ดั่งเช่น นัน - นันพิชา จูงศิริวัฒน์ นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาแบบบูรณาการด้านบัญชีและการบริหารธุรกิจ (IBMP) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เริ่มมีเงินเก็บถึงหกหลักจากการเล่นหุ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย นัน - นันพิชา เล่าว่า ตนสนใจเรื่องการลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย เพราะเห็นคุณพ่อของตนลงทุนในหุ้น โดยตนเริ่มมาออมเงินด้วยการลงทุนในหุ้น ตอนเข้าเรียนปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นเริ่มจากลงทุนในหุ้นที่รู้จัก จนเมื่อขึ้นปีที่ 3 จึงเริ่มกระจายการลงทุนผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมประมาณ 50% โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้นต่างประเทศ หุ้นกู้ ทอง อสังหาฯ เป็นต้น เนื่องจากง่ายต่อการซื้อขายและบริหาร อีกช่องทางหนึ่งคือการลงทุนในหุ้นไทยด้วยตนเองประมาณ 40% จุดประสงค์หลักก็เพื่อหาผลตอบแทนให้มากที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พยายามยึดหลัก Value Investing ในการลงทุน และที่เหลือเป็นเงินฉุกเฉิน กระทั่งการออมเงินไว้ในพอร์ตลงทุนทำให้ตนมีเงินเก็บสะสมในบัญชีถึง 6 หลัก จึงทำให้ตนสนใจศึกษาเรื่องเทคนิคการลงทุนมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดในเรื่องการลงทุน คงหนีไม่พ้นนิสัยการหมั่นหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะทำให้รู้ว่าโลกกำลังดำเนินไปในทิศทางใด และพยายามตีสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นราคาหุ้นที่ควรจะเปลี่ยนให้ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ได้ความรู้มาจากการเรียนในรั้วเหลือง-แดง ในหลักสูตร IBMP ของคณะบัญชีฯ เช่น วิชา International Finance และวิชา Financial Policy and Strategy ที่ช่วยให้ตนสามารถประเมินแนวโน้มและวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทได้ นอกจากนี้ นัน ยังแนะนำ “5 เทคนิคการลงทุนในหุ้นฉบับง่ายๆ” มาฝากนักลงทุนเจน Z อีกด้วย มาดูกันเลยดีกว่า 1. ทำความเข้าใจ กำไร ขาดทุน ของบริษัทก่อน (Income Statement) เพื่อให้นักลงทุนสามารถมองเห็นแนวโน้มของผลกำไรบริษัท โดยมองย้อนไปในอดีต 3 ปีเป็นอย่างต่ำ จึงจะสามารถคัดเลือกบริษัทที่เข้าข่ายการลงทุนได้ในเบื้องต้น อีกทั้งถ้าบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น-ลดลง ในปีถัดไป ผู้ลงทุนก็สามารถรับรู้ได้ว่า เพิ่มเพราะรายได้เพิ่ม หรือลดรายจ่าย (สามารถแบ่งย่อยรายจ่ายได้อีก) ผู้ลงทุนก็สามารถรู้กลยุทธ์คร่าวๆ ของบริษัทที่สนใจได้ ข้อนี้เป็นข้อที่ทุกคนที่คิดจะลงทุนในหุ้น สมควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ยาก 2. ดูงบดุลและงบกระแสเงินสดเป็น (Balance Sheet & Cash Flow Statement) งบดุลจะทำให้นักลงทุนได้ทราบถึง ฐานะทางการเงินของบริษัท ณ จุดเวลาหนึ่ง เช่น มีเงินสด สินค้าคงเหลือ หนี้สั้น-ยาว กำไรสะสม เท่าไหร่ เราสามารถมองเห็นและพอเดาออกได้ไม่ยากมากนัก ส่วนงบกระแสเงินสด ดูการไหลของเงินสดในบริษัท สามารถตอบคำถามได้ว่า ขายของแล้วได้เงินสดไหม ไม่ใช่มีแต่เงินเชื่ออย่างเดียว เป็นต้น 3. ตีมูลค่าหุ้นในบริษัทให้เป็น (Stock Valuation) ขั้นตอนนี้มีหลายวิธีมาก แต่ละวิธีก็ดีคนละแบบ กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเรามองแนวโน้มกำไรได้แล้วจากขั้นตอนที่ผ่านมา เราก็พอจะรู้ว่ากำไรในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ก็สามารถเทียบหาราคาหุ้นที่ควรจะเป็นได้ผ่าน Relative Method โดยใช้อัตราส่วนต่างๆมาจับ เช่น PE Ratio, PB Ratio เป็นต้น เช่นรู้ PE เฉลี่ยของอุตสาหกรรม และกำไรปีหน้า เราก็สามารถหาราคาที่ควรจะเป็นได้คร่าวๆ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว 4. รู้จักบริหารจัดการเงินทุน (Money Management) โดยจะช่วยให้นักลงทุนมือใหม่ ไม่เพลินเสียเงินจนเจ็บหนัก ซึ่งการบริหารจัดการเงินทุนในแต่ละครั้ง จะต้องกำหนดจุดเสี่ยงขาดทุนที่รับได้ เพื่อป้องกันการเสียเงินแบบเทหน้าตักจนหมดตัว ยกตัวอย่าง นักลงทุนกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ที่ 20% ด้วยเงินลงทุน 1 แสนบาท ดังนั้นตัวเลขขาดทุนที่รับได้อยู่ที่ 2 หมื่นบาท ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าตังค์หาย 2 หมื่น โอเคไหม เมื่อเทียบกับโอกาสการลงทุนที่ตนจะได้ อาจจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ด้วยว่าถือยาวหรือสั้นและอีกหลายเรื่อง เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไม่มีกฎตายตัว แต่ต้องมีอยู่ในใจก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง 5. มีนิสัยนักลงทุน (Investor Behavior) สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการเป็นนักลงทุนที่ดี จะต้องติดตามข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะข่าวสารที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นประจำ เช่น การขึ้นลงดอกเบี้ยนโยบายของชาติมหาอำนาจ การเลือกตั้ง การออกจากสหภาพยุโรป สงคราม เป็นต้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีผลต่อตลาดการเงินเป็นอย่างมาก และหุ้นก็เป็นหนึ่งในนั้น ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดสงครามขึ้น ทอง น้ำมัน ค่าเงินเยน สวิสฟรัง น่าจะดี ส่วนหุ้นทั่วโลก อนุพันธ์ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นเช่น ETF ก็น่าจะไม่ดีเป็นต้น การฝึกคิดเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้บ่อยๆ ผมคิดว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดี หนทางแห่งความสำเร็จครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันใด แต่ได้มาจากความตั้งใจและใช้เวลากับมันมากๆ จึงไม่แปลกเลยที่ความเพียรพยายาม และอุตสาหะดังกล่าว จะทำให้นันคว้าแชมป์ จาก เวทีการประกวด Young Financial Star (YFS) ประเทศไทย ในปี 2016 มาได้ โดยรางวัลครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นก้าวแรกของเขาเท่านั้น เพราะนันตั้งเป้าที่จะเดินหน้าสู่เส้นทางอาชีพสายการเงินการลงทุน และแม้ว่าหลายคนอาจจะเจ็บหนักจากการลงทุนในหุ้น แต่เคล็ดลับสำคัญสำหรับหนุ่มไฟแรงคนนี้มีอยู่ว่า “อะไรที่ทำเงินนั้นยากหมด แต่ไม่ยากเกินความพยายาม” นัน กล่าวทิ้งท้าย