ผู้อำนวยการศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ม.รังสิต จัดงานเสวนาวิชาการครั้งที่ 4 ในหัวข้อเรื่อง “โรคร้าย ภัยคุกคาม และทางรอดอารยธรรม ภายใต้และหลังโควิด 19” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ รศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ คณบดีสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ณ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต โดยมี ผศ.บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ อ.อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (ผอ.ศูนย์สุวรรณภูมิฯ) ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “หากโรคร้าย และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในสังคม ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพของจำนวนประชากร สร้างความเปราะบางและเคยมีผลกระทบกับการล่มสลายของอารธรรมมาแล้วตั้งแต่อดีต หากมนุษยชาติ ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดครั้งใหญ่หลายครั้ง นับเนื่องแต่อดีตถึงปัจจุบันก่อให้เกิดความสูญเสีย การละทิ้งถิ่นฐาน อพยพโยกย้าย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิต การสั่งสมภูมิปัญญา และการสร้างสรรค์อยู่เสมอ เช่นนั้นแล้ว “ทางออก และความหวังของการรักษาอารยธรรมควรอยู่ตรงไหน หนทางแห่งการแก้ปัญหาโรคระบาดได้สิ้นสุด และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างไรในอดีต และปัจจุบันเราควรปรับตัว หรือมีวิธีแห่งการพัฒนาศิลปวิทยาการ รวมไปถึงเราสามารถถอดบทเรียน จากประวัติศาสตร์ สู่บทบาทใหม่ของวัฒนธรรมในโลกภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ได้อย่างไรบ้าง” ในวาระนี้ได้รับเกียรติจากนักวิชาการระดับแนวหน้า ทั้งสองท่าน ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการลงพื้นที่ รวมถึงถ่ายทอดกระบวนทัศน์ วิธีคิด และถอดบทเรียนที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ในประเด็น “โรคระบาดกับอารยธรรม” (ติดตามชมคลิปงานเสวนา ได้ที่ https://youtu.be/se_sLFLotbA) รศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ เมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ย่อมเกิดผลกระทบ ย้อนไปในอดีตเราจะเห็นได้จากการบันทึกจากวรรณกรรม เช่น ในสมัยพทุธกาล แคว้นวัชชี เกิดปัญหาความยากจน ผู้คนอดอยากล้มตาย โดยเฉพาะคนยากจน เมื่อมีปริมาณมากขึ้นไม่สามารถจัดการกับศพได้ทันก็เกิดการแพร่กระจายของโรค มีบันทึกทางพุทธศาสนา กล่าวถึงโรคระบาดใหญ่ในแคว้นวัชชี สืบเนื่องมาในบันทึกของกรีก สมัยต้นสงครามระหว่างเอเธนและสปาตัน ก็เกิดโรคระบาด ด้วยการวางแผนที่เอเธน นำผู้คนไปรวมกันในเมืองท่าอย่างหนาแน่น จังหวะนั้นมีโรคระบาดแพร่มาจากอียิปต์ ก็ทำให้คนตายไปหลายหมื่นคนในเอเธนส์ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ การเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยา หรือ “ห่าวิทยา” เกิดขึ้นจากมนุษย์รวมเป็นกลุ่มคน ตั้งแต่หลังยุคหินใหม่ ก็เริ่มปลูกพืช รวมตัวกันเป็นชุมชน มีการนำ พืชและสัตว์มาอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตของคนด้วย ซึ่งสาเหตุของโรคก็มักมีจุดเริ่มต้นจากมาจากสัตว์ เช่น โรควัณโรค โรคหัด ฯลฯ อีกปัจจัย ก็คือการใกล้ชิดกันระหว่าง สปีชีส์ของสัตว์หลายชนิด ซึ่งถ้ามีการเดินทาง ไม่อยู๋ติดที่ ก็อาจจะไม่แพร่กระจายมาก แต่ถ้ามาอยู่รวมตัวกันมากๆ ก็อาจจะเลี่ยงไม่ค่อยได้ เช่นอย่าง “โรคกาฬโรค” ก็เริ่มต้นจาก มองโกเลีย (มณฑลหูเป่ย์) ราวศตวรรษที่ 13 ผู้คนเดินทาง จากทางบกถึงเมืองท่า ออกไปสู่โลกตะวันตก ทำให้เกิดการระบาดหนักมากในยุคหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มที่เสียชีวิตมากๆ พวกนี้คือกลุ่มคนในเมือง หรืออยู่ในพื้นที่แออัด พอหลังจากคนในเมืองตาย คนท้องถิ่นที่เป็นแรงงานก็อพยพเข้ามาในเมือง และมีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเชิงสังคมที่สำคัญ จนกระทั่งทำให้การค้าขายฟื้นขึ้น ค่อยๆ เจริญจนกระทั่งเข้าสู่สู่ยุคเรเนซองส์ (Renaissance) มีการปฏิรูปศาสนา และศิลปะ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้น ฉะนั้นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังจากการแพร่กระจายของโควิด 19 นี้ ผมคิดว่า ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ยาวๆ มันไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ มันต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าจะเห็นผลพวงของยุคหลังจากสมัยที่เกิดโรคระบาด รศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ ประเด็นนี้ น่าสนใจนะครับ สำคัญในเชิงสังคมศาสตร์ โรคระบาดได้ทำให้เกิดการจัดลำดับทางสังคม กลุ่มขึ้นที่ขึ้นมามีโอกาส ขึ้นมามีอำนาจด้วยโรคระบาดมีบทเรียนให้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์เยอะ ยกตัวอย่าง “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบโลกอีกแบบหนึ่ง มีวิวัฒนาการทั้งหมด มาถึงศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิด จักรวรรดินิยมแบบใหม่ เชื่อมโยงผู้คนไปหมด เกิดเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เริ่มเกิดเทคโนโลยีแบบใหม่ขึ้น เช่น โทรเลข เกิดการติดต่อสื่อสารที่ไม่เคยเกิดขึ้น เกิดการถ่ายภาพ เกิดรถไฟ ควบคู่กับการขยายอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ ด้วย พอเร่ิมเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 20 เกิดการปะทะกันของโครงสร้างจักรวรรดิขนาดใหญ่ เกิดสงครามโลก เกิดมีการเคลื่อนย้ายผู้คนจำนวนมาก การเดินทาง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนตายจากโรคไข้หวัด มากกว่า ตายจากอาวุธ และสงครามซะอีก ทั่วโลก มีการประเมินขึ้นต่ำ ถึงผู้เสียชีวิตด้วยโรค ประมาณ 25 - 100 ล้านคน ฉะนั้นการระบาดระลอกสองนี้น่ากลัวกว่าครั้งแรกอีก เมื่อคนหนุ่ม ทหาร เสียชีวิต ล้มตายลงไปมาก ผลกระทบที่ตามมาก็คือ “การเกิดบทบาทของผู้หญิงนอกบ้าน” เกิดการเปลี่ยนบทบาททางเพศสภาพ เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสังคม ผู้คนเริ่มเห็นภัยพิบัติ และอยากควบคุมให้เกิดการบริหารจัดการและรับมือได้ ก็เกิดตื่นตัวเรื่องสวัสดิภาพ และมีสวัสดิการณ์ ต่างๆ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เกิดการ บริหารจัดการเมืองด้วย เคยมีตัวอย่าง เมื่ออหิวาต์ระบาดตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ครั้งหนึ่งในยุโรป สมัยก่อนจะไม่มีห้องน้ำ ใช้เหยือกใส่น้ำ ถ่ายแล้วค่อยเอาไปทิ้ง พอมีการระบาดของอหิวาต์ ก็เกิดวีรบุรุษ ที่เป็นหมอ ท่านนึง ท่านทำแผนที่ ทำไดอะแกรม จึงพบว่ากลุ่มที่เป็นอหิวาต์ มาจากละแวกบ้านเดียวกัน ใช้ ปั๊มน้ำดื่ม บ่อบาดาล จากแหล่งเดียวกัน คุณหมอก็ไปถอดคันโยก (จอห์น สโนว์ อายุรแพทย์ชาวอังกฤษ) โรคระบาดจึงหยุด ชื่อว่า เป็น บิดาแห่งระบาดวิทยาภาคสนาม ในลอนดอนมีการออกกฏหมาย ให้เกิดการบำบัดน้ำเสีย และไม่กี่ปีตามมา ก็เกิดในปารีส และไทยก็นำมา implement ในช่วงของสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย แต่สุดท้ายมันเป็นผลพวงทีเกิดสืบต่อกันมานะ ไม่ได้เกิดจากการวางแผน หรือที่พูดว่า เราจะกำหนด new normal ยังไง ผมว่ามันไกลไปและยากเกิดจะคาดคะเนได้ด้วย ทางรอด วิถีชุมชนไทย กับโรคระบาด ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ความเห็นนะครับ ฝ่ายหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยจาก ภูมิอากาศ หรือการฉีดวัคซีน BCG รึเปล่า การปลูกฝี มีทฤษฎีอันนึงว่า “การปลูกฝีอาจลดความรุนแรงของโควิด โดยเฉพาะไทย กลุ่มเสี่ยง ผู้มีอายุเยอะ อาจจะเพราะเราเคยฉีดวัคซีน BCG” ทำให้การระบาดในกลุ่มคนดังกล่าวไม่รุนแรง อีกประเด็นคือ จุดเด่นที่เป็นวิถีชุมชน เป็น (อสม - อาสาสมัคร) น่าสนใจ น่าทึ่งนะ เขาเสนอการผลักดัน “Health for all” คือคนจนก็มีสิทธิ์ที่จะมีสุขภาพที่ดีได้ เป็นแนวคิดสังคมนิยม ช่วงนั้น ดร มาห์เลอร์ (Halfdan T.Mahler) ท่านเอาด้วย สังคมนิยม รัสเซีย จีน คิวบา ในที่สุดเกิดการประชุมที่เมือง อัลมาตี้ (Almaty) ที่นี้เมืองไทยก็รับนโยบายมาด้วยเลยเกิดการมี (อสม.) และประเทศไทยก็ยังคงสืบเนื่องมาเรื่อยๆ จนมีสมาชิกเป็นล้านคนและภาครัฐก็สนับสนุนด้วย ก็เกื้อกูลกันในระดับนโยบายรัฐเอง และในแง่ผลงาน ก็กลายเป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure) ของไทยที่น่าทึ่ง เป็นระบบที่กระจายภาระการดูแลกันออกไป ช่วยกันดูแลจริง ก็มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ ระบาดไข้หวัดนกแล้ว และก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะมีระบบการติดตามจากระดับหมู่บ้าน ที่สำคัญคือ อสม. เมื่อทำงานนานๆ จะถูกยกฐานะ ให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ฉะนั้นในระดับ หมู่บ้าน เขาจะมีความผูกพันกับงานด้านสาธารณสุขเป็นพื้น ดังนั้นเวลามีการปฏิบัติในลักษณะแบบนี้ เขาจะมีความเข้าใจที่ดี เพราะเคยเป็น อสม.มาก่อน ผมคิดว่าจึงกลายเป็นผลพวงที่ดีในการแก้ป้ญหาเรื่องโรคระบาดของไทย รศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ วิสัยทัศน์ หรือการปลี่ยนแปลหลังโควิด จริงๆ เรายังไม่ทราบแน่ชัด ต้องถามว่า เราอยู่ในระยะไหน? หรือเราเห็นฝั่งหรือยัง? ฉะนั้นเรา ลองคิด และเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง? ดีอยู่อย่างว่า ด้วยสถานการณ์นี้ จะเห็นปัญหาที่เคยถูกซ่อนอยู่ ให้เปิดเผยขึ้นมา เช่น ความเหลื่ยมล้ำทางสังคมที่ควรได้รับการแก้ไข โยงมาถึงประเด็น อสม. ที่วางอยู่บนฐานของชุมชนจริง ที่มีอยู่ เป็นญาติพี่น้อง มีความรู้จักมักคุ้น ฉะนั้นเวลาที่ใครก็ตามกลับบ้านต่างจังหวัด จะมีความคุ้นเคยกัน มีความรู้สึกห่วงใยกันจริง เป็นสิ่งที่ผสานอยู่ในตัวเนื้อของชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้นหลายเรื่อยที่เราควบคุมได้ดีพอสมควร คือ รู้กันอยู่ว่า “เราห่วงเขา เขาห่วงเรา” ถ้าเรามีอันนี้อยู่ มันระวังตัว คือ ก็ไม่อยากเอาไปติดผู้ใหญ่ หรือเด็กที่บ้าน เพราะคิดถึงผลพวง ที่จะตามมา ฉะนั้น ผมคิดว่า “การมีจิตสำนักร่วมกัน ก็เป็นข้อดี” จริงๆ แล้ว เราควรศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาบัณฑิตที่จบไปทำงาน เขาจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และเราจะเตรียมความพร้อม รับมืออย่างไร ประเด็นนี้ควรจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ ฉะนั้นเรายังไม่ต้องพูดถึงโลกหลังโควิด หรือ new normal แต่เราน่าจะสนใจ “Real Normal” สถานการณ์จริง ณ ขณะนี้มากกว่า และนี่แหละ คือโอกาส ที่จะติดตามดูผลขององค์รวมของในหลายๆ ด้าน ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เราอาจต้องระวังและปรับวิธีคิดกับโรคระบาด ผมว่าอย่าทอนให้เรื่องโรคระบาดโควิด 19 กลายมาเป็น ความรับผิดชอบของส่วนบุคคลจนมากเกินไป ต้องคำนึงถึงการวางนโยบายของประเทศในระยะยาวที่จะรับมือกับปัญหาเวลามีภัยพิบัติ หรือโรคระบาดเกิดขึ้นด้วย เมื่อยามเกิดภาวะวิกฤติอย่างโรคระบาดนี่ เป็นเวลาที่มนุษย์จะแสดงออกแบบสุดขั้วในด้านมืด แต่อีกนัยนึงก็เป็นการแสดง ส่วนที่ดีที่สุดในความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย ฉะนั้นภารกิจในปัจจุบันนี่คือทำยังไงให้ “การแสดงออกของมนุษย์ สามารถจะดึงเอาด้านบวกของบุคคลนั้นๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด” ผมคิดว่าเป็นงานเชิงนโยบายเลย เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดี ผลลัพธ์ก็แสดงด้านดีออกมา แต่ถ้าการบริหารจัดการไม่ดี มันก็จะแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ แม้โรคระบาดตายไปแล้ว แต่อคติก็ยังอยู่ ซึ่งในขณะเดียวกัน ภาคของการวางแผนแผน วางนโยบายเองก็ต้องปรับตัวเยอะ ฉะนั้นผมว่า เป็นความท้าทายของการบริหารของภาครัฐด้วยครับ