กรมปศุสัตว์ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกกรณีที่มีข่าวการตรวจพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์วันนี้ (30 มิ.ย.63) ว่านักวิทยาศาสตร์จีนตรวจพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน มีลักษณะคล้ายกับไวรัสไข้หวัดหมูที่ระบาดในปี 2009 โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า G4 EA H1N1ซึ่งพบในคนงานที่ทำงานโรงฆ่าสุกร โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้กล่าวว่า แม้ไวรัสชนิดนี้ยังไม่จัดว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาควรเริ่มวางมาตรการควบคุมไวรัสในสุกรและเฝ้าระวังการติดเชื้อใน กลุ่มคนงานในอุตสาหกรรมผลิตสุกร โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (A/H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 เริ่มพบเมื่อปี พ.ศ.2552 ที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้แพร่ไปหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบทั่วไป เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน และทำไมถึงเรียกว่า ไข้หวัดหมู (Swine Flu) เนื่องจากในช่วงแรกที่พบการระบาดนักวิทยาศาสตร์ พบว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสที่พบในฟาร์มหมูในทวีปอเมริกาเหนือ แต่การศึกษาในระยะต่อมา พบว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ (A/H1N1) เกิดจากการผสมของสายพันธุกรรม (gene) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนกแต่คนบางส่วนก็ยังเรียกติดปากว่า ไข้หวัดหมู (Swine Flu) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ H1N1 ที่พบในมนุษย์และสุกรนั้นก็จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้น มิใช่ว่าเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์ในสุกรจะสามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว โดยร่วมกับสัตวแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ติดตามและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด เอสายพันธุ์ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ในสุกรมาโดยตลอด โดยดำเนินการจัดทำ “คู่มือแนวทางการปฏิบัติงานทางคลินิกต่อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1)” สำหรับสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และผู้เลี้ยงสุกร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการติดตาม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นกับสุกรในประเทศ และกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการป้องกันโรคภายในฟาร์มสุกร ดังนี้ 1.ควรมีการจัดการที่ดีตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) 2.ควรทำการกักแยกสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่เพื่อสังเกตอาการก่อนปล่อยเข้าร่วมฝูง 3.ทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ 4.หากบุคลากรภายในฟาร์มป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุกร 5.สำหรับน้ำที่ใช้ภายในฟาร์ม ควรมีการทำลายเชื้อโรคก่อนนำไปใช้เลี้ยงสุกร 6.ยานพาหนะที่เข้า-ออกฟาร์มจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง "ทั้งนี้ แม้จะถูกเรียกชื่อว่า “ไข้หวัดหมู (Swine Flu)” แต่ยังไม่มีรายงานทางวิชาการว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อจากหมูโดยตรง ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องตื่นตระหนกยังสามารถรับประทานหมูได้ตามปกติและแนะนำให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ"อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว