การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และการส่งเสริมสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงของชาติอย่างยั่งยืน ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 โดย สทป. ได้กำหนดให้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับเป็น 1 ใน 5 เทคโนโลยีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคง ภายใต้แผนที่นำทางโครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับของ สทป. ที่มีความพร้อมในการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยพัฒนาต่อยอดเพื่อการใช้งานในภาคพลเรือน ทั้งนี้ สทป. ได้ประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการร่วมพัฒนาระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ สำหรับ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ร่วมกับ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร หรือ ศอพท. ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหมได้กรุณาอนุมัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ณ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ พลเอก ธนิส พิพิธวณิชการ ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการร่วมพัฒนาระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter Unmanned Aircraft Systems) นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ Counter Unmanned Aircraft Systems ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่มีความเข้มแข็ง ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เป็นหนึ่งในส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีภารกิจหลักด้านการอุตสาหกรรมและพลังงานทหารสู่อุตสาหกรรมต้นแบบให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม ด้วยความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ได้สนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีองค์ความรู้เฉพาะทาง ตามแนวคิด Open Innovation สู่ต้นแบบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามความต้องการของกองทัพที่ได้รับการยกระดับมาตรฐานทางการทหาร โดยมีกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาให้ต้นแบบอุตสาหกรรมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มุ่งให้เกิดความยั่งยืนกับภาคเอกชนซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักในประเทศ อากาศยานไร้คนขับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ถูกนำไปใช้งานทั้งทางด้านการทหาร และพลเรือน เช่นเดียวกันกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาแบบก้าวกระโดด และในบางครั้งก็ถูกนำไปใช้งานด้านก่อการร้ายซึ่งส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม เช่น การโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่ง ของบริษัทซาอุดี อารามโค เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากการร่วมพัฒนาระหว่างศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และเครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรมทางทหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยการดำเนินการ 3 รูปแบบ ดังนี้ 1. รูปแบบการทำงานแบบติดตั้งประจำที่ หรือ Fixed Station สามารถประยุกต์ใช้กับการป้องกันการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ของศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และกระทรวงกลาโหม รวมถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เช่น ท่าอากาศยาน แหล่งปิโตรเลียม จากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ การก่อการร้าย และการสอดแนมจากผู้ไม่พึงประสงค์ 2. รูปแบบการทำงานแบบเคลื่อนที่ได้ หรือ Mobile Station สามารถย้ายจุดติดตั้งได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องทุ่นแรง และมีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ารูปแบบติดตั้งประจำที่ หรือ Fixed Station 3. รูปแบบการทำงานแบบปฏิบัติงานขณะเคลื่อนที่ได้ หรือ On the Move สามารถติดตั้งทั้งระบบบนรถบรรทุกขนาดไม่เกิน 1.25 ตัน ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานในภารกิจติดตามเพื่อป้องกันขบวนยานยนต์บุคคลสำคัญ รวมถึงอาคันตุกะจากต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานความมั่นคงของประเทศสู่ระดับสากล นอกจากนี้ สามารถควบคุมการทำงานแบบแพลตฟอร์มเดียว ตั้งแต่การตรวจจับ การระบุประเภท และการต่อต้านสกัดกั้น โดยมีระบบประมวลผลสำหรับผู้ใช้งานแบบกราฟฟิก ซึ่งสามารถควบคุมการใช้งานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพียงหนึ่ง function และสามารถแสดงผลบนมอนิเตอร์เพียง 1 จอ ทั้งระบบสามารถใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 2 คน โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะเป็นผู้บูรณาการการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีการต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ โครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับ ให้กับข้าราชการกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานความมั่นคงอื่น เพื่อพัฒนาหลักนิยมต่อต้านอากาศยานไร้คนขับในอนาคต ให้สอดคล้องกับทิศทางและแนวนโยบายความมั่นคงของโลกในอนาคต เนื่องจากการวิจัยและพัฒนา มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ และการวิจัยพัฒนาจะนำไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ ในการตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 (S-Curve 11) ได้อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยตรงต่อไป