คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” นักศึกษาภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตผสมกระดูกไก่ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์ในโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าของไอเดียประกอบด้วย นายศุภศิษฐ์ สีลา นายคุณานนต์ แซ่บ้าง นายจิรายุส ยีสมัน และ นายนภัสรพี แสงสว่าง โดยมีว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร อาจารย์ที่ปรึกษาเล่าว่า กระดูกไก่เป็นวัสดุที่สามารถนำมาบดและเผาเป็นวัสดุสำหรับใช้ในการดูดซึมสารฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ได้ แต่เมื่อกระดูกไก่ดูดซึมสารฟลูออไรด์แล้วจะเป็นวัสดุที่สามารถกำจัดได้ยาก เนื่องจากอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ต้นทุนในการกำจัดสูง ทางทีมผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะนำกระดูกไก่ที่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มาผสมลงในคอนกรีต เพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหากระดูกไก่ที่มีการปนเปื้อนสารฟลูออไรด์ ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณสมบัติของคอนกรีต การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาโดยออกแบบส่วนผสมของคอนกรีตผสมกระดูกไก่บดจากการกำจัดฟลูออไรด์ และขึ้นรูปเป็นคอนกรีตรูปลูกบาศก์ขนาด 15×15×15 เซนติเมตร จากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและทางกลเพื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไปตามมาตรฐาน ASTM และ BSI ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ ด้านนายศุภศิษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงผลที่ได้จากการทดสอบว่า ผลการวิเคราะห์หาส่วนขนาดคละของมวลรวม กระดูกไก่บดมีค่าโมดูลัสความละเอียดใกล้เคียงกันกับทรายและผ่านข้อกำหนดของกรมทางหลวง และคอนกรีตจะมีค่าการยุบตัวที่น้อยลงเมื่อปริมาณของกระดูกไก่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มากขึ้น ส่วนผลการทดสอบระยะเวลาการก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ พบว่าหากภายในกระดูกไก่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์อยู่มากก็จะส่งผลให้ระยะเวลาก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ใช้เวลาน้อยลง ในขณะที่อุณหภูมิจากปฏิกิริยาไฮเดรชันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (บนซ้าย) คุณานนต์, จิรายุส (ล่างซ้าย) นภัสรพี, ศุภศิษฐ์ นอกจากนี้ การที่กระดูกไก่มีลักษณะมีช่องว่างในการดูดซึมสารฟลูออไรด์มาก จะทำให้คอนกรีตที่ได้มีค่าน้ำหนักต่อก้อน และความต้านทานแรงอัดลดลง รวมทั้งมีการดูดซึมน้ำที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็สามารถนำไปใช้ออกแบบและใช้งานได้เช่นเดียวกับคอนกรีตทั่วไป ทั้งนี้ คอนกรีตผสมกระดูกไก่จากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์นั้นเหมาะแก่การนำไปใช้ในงานที่มีความต้องการเร่งการก่อตัวของคอนกรีตให้เร็วมากขึ้น หรืองานที่ต้องการใช้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวน้อยๆ เป็นอีกผลงานของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ที่ต้องขอชื่นชม ชลธิชา ศรีอุบล มทร.ธัญบุรี