เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่อบต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ “อว.สร้างงาน ระยะที่ 1” ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ โดยมีนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผวจ.อุตรดิตถ์ และ ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ให้การต้อนรับ โดย ดร.เบญจวรรณ สุจริต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “อว.จ้างงาน ระยะที่ 1” ได้นำเสนอความคืบหน้าของการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะหน่วย จ้างงาน รับสมัครและคัดเลือกบุคคลที่จะได้รับการจ้างงานจำนวน 290 อัตรา จ้างงานระยะเวลา 4 เดือน เดือนละ 9,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ รับเข้าทำงานแล้วจำนวน 279 อัตรา เหตุที่ไม่ครบ 290 อัตรา เนื่องจากผู้สมัครบางส่วนได้รับสิทธิในการเยียวยาจากภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจึงต้องมีการตัดรายชื่อออก และมีการลาออกระหว่างทำงาน โดยทั้ง 279 อัตรา ได้ลงดำเนินการในพื้นที่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด จำนวน 109 ตำบล ประกอบด้วยจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ สุโขทัย ดร.เบญจวรรณ กล่าวว่า ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนงานภายใต้ทุน ศักยภาพ และบูรณาการกับพันธกิจปกติของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการทำงานเชิงสานประโยชน์ร่วมกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1.การพัฒนาระบบและกลไกคู่ความร่วมมือชุมชนท้องถิ่นกับภาควิชาการและภาคีเน้นการเชื่อมกลไกความร่วมมือกับ อปท.แกนนำชุมชนและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ให้มีกลไกที่ขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบทั้งระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัด 2.การจัดการข้อมูลเพื่อพัฒนา DATA Information โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องและข้อมูลหมู่บ้านโดยเชื่อมโยงกับศูนย์จัดการข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการใช้ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการวางแผนพัฒนาทั้งระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัด 3.สังเคราะห์และถอดบทเรียนกระบวนการดำเนินงานเพื่อหาแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยการสังเคราะห์เพื่อหา GAP Analysis ในการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนงานวิจัยที่สนองต่อสถานการณ์ปัญหาของชุมชนท้องถิ่นที่และแนวทางการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.พัฒนาทักษะ (reskill and upskill) ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะของผู้จ้างงานซึ่งเรียกว่า พนักงานจ้างเหมาบริการ ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. กล่าวว่า พอใจการดำเนินการโครงการ อว.สร้างงาน ระยะที่ 1 และ อว.จะเริ่มโครงการ อว.สร้างงาน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จำนวนกว่า 3.2 หมื่นคน โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มีอัตราการจ้างงงาน ระยะที่ 2 จำนวน 376 อัตรา จ้างงานระยะเวลา 3 เดือน เดือนละ 9,000 บาท มีพื้นที่ดำเนินการใน 4 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 74 ตำบล ได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน และ กำแพงเพชร โดยลักษณะงานที่ผู้รับจ้างดำเนินงาน จะเป็นเรื่องข้อมูลเชิงพื้นที่ ติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เก็บข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การวิเคราะห์และจัดทำแผน วางแผนโครงการและแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ด้าน Smart Faming ด้านการจัดการน้ำชุมชน ด้านสุขภาพ ด้านการสร้างอาชีพ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านการจัดการขยะ ด้านการจัดการสังคมผู้สูงอายุ หรือด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับบริบทปัญหา หรือความต้องการของพื้นที่ เป็นต้น +++++++++++++++++++++++++++