เผยมาตรการไทยไม่เพียงป้องกันโควิดได้ผลเท่านั้น ยังคุมโรคทางเดินหายใจอื่นได้ชะงัด ยอดป่วยลดวูบ ย้ำยังต้องระวังต่อ ขนาดปักกิ่งโล่งมาเกือบ 2 เดือนยังเจอได้ พร้อมยกตัวเลขที่นิวยอร์ก นอกจากตายจากโควิด ยังเป็นสาเหตุทางอ้อมให้โรคอื่นตายเพิ่มอีก ระบุถึงต่อให้สถานการณ์จบแต่ผลกระทบไม่จบตามแน่ ต้องหาจุดสมดุลอยู่ร่วมให้ดีที่สุด ขณะความเสี่ยงระบาดยังมีได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่คนไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์ของโควิดของไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ยัง ได้มีผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจทุกโรค เช่น ปีนี้จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ต่ำเป็นพิเศษ ต่ำกว่าทุกปี รวมทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยลดลงอย่างมาก และโรคปอดอักเสบ ซึ่งช่วงต้นปีก่อนมีการรณรงค์ป้องกันโควิด จะเห็นจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมากกว่าปีที่แล้ว และมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี แต่หลังจากเริ่มมาตรการป้องกันโควิดเต็มที่ ทำให้โรคปอดอักเสบลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราทำมามีประโยชน์ไม่เพียงโควิด ตอนนี้ทำให้ปัญหาสุขภาพทางเดินหายใจลดลงต่อเนื่อง ขณะสถานการณ์ต่างประเทศที่สำคัญคือ จีน หลังจากปักกิ่งตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 55 วัน ก็เจอผู้ป่วยใหม่ โดยตั้งแต่ 11-24 มิ.ย. ปักกิ่งสามารถค้นพบผู้ป่วยเพิ่มเติมได้ 269 คน เพราะฉะนั้นตอนนี้ ไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่เจอผู้ป่วยประมาณ 30 กว่าวัน ก็ยังต่ำกว่าปักกิ่ง ถามว่าไทยจะกลับมามีโอกาสเจอผู้ป่วยอีกหรือไม่ ตอนนี้ก็อาจจะยังต้องระมัดระวังกันต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งอีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตของนิวยอร์ก ในช่วงวันที่ 1 มี.ค.-2 พ.ค.ที่ผ่านมา พบมีผู้เสียชีวิต 32,107 คน ในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตที่นักวิจัยระบุเป็นการเสียชีวิตที่มากกว่าค่าปกติถึง 24,172 คน โดยเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกเป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 19,079 คน และเกิดจากการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุทางอ้อมจากไวรัสโควิดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอีก 5,293 คน ซึ่งผลกระทบทางอ้อมของสหรัฐเกิดจากการที่การให้บริการทางการแพทย์มุ่งเน้นไปที่โควิด-19 เป็นหลัก ทำให้ผู้ป่วยจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางอย่างได้รับบริการที่ไม่เท่าทันหรือไม่ทันเวลา จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ผลกระทบโควิดที่ก่อให้เกิดกับสุขภาพจึงไม่ได้เป็นเพียงแต่ตัวเลขที่เรานับจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิต ยังมีผลกระทบทางอ้อมในหลายๆ ด้าน และผลกระทบจะไม่จบหลังจากสถานการณ์จบลง ซึ่งในการจัดการกับปัญหาโควิดส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามหาจุดสมดุลที่ดีให้ได้ ส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ให้มีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ในระดับที่รองรับได้ ในขณะเดียวกันต้องไม่ก่อผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคมมากจนเกินไป ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำทั้ง 2 ส่วนและมีการจัดการได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือในการป้องกันโควิดกันต่อไป เพราะยังมีโอกาสที่จะกลับมาเจอโควิดในอนาคตได้อีก “ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดมีการแพร่ระบาดได้ตลอดเวลา และเมื่อเราสามารถที่จะมีวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยได้ นั่นถึงจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ตอนนี้เราก็ยังติดตามสถานการณ์การพัฒนาวัคซีนกับยารักษาโรคอย่างใกล้ชิดต่อไป ในขณะนี้ถามว่ามาตรการอะไรที่จะเป็นมาตรการสำคัญคือ มาตรการด้านสาธารณสุข ตอนนี้สธ.พยายามเต็มที่ที่จะใช้มาตรการสธ.ในการป้องกัน ค้นหา การควบคุมโรค ขณะที่ยอดการตรวจค้นหาเชื้อไม่ได้ลดลงเลย”