กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวว่าพื้นที่ 5 อำเภอ ตอนเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ได้รับประโยชน์จากน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมขอให้ตรวจสอบงบประมาณในการแก้ปัญหาภัยแล้งจำนวนเงิน 200 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ พบว่าพื้นที่ 5 อำเภอ ตามที่มีการนำเสนอข่าวนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า อำเภอน้ำปาดและอำเภอบ้านโคก เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนอำเภอท่าปลา มี 5 ตำบลที่อยู่ในเขตชลประทาน (โครงการช่วยเหลือพื้นที่ผู้อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์) ประกอบด้วย ตำบลท่าปลา ตำบลจริม ตำบลร่วมจิต ตำบลหาดล้า ตำบลน้ำหมัน อำเภอฟากท่า มี 1 ตำบลที่อยู่ในเขตชลประทาน คือ ตำบลฟากท่า รับน้ำจากโครงการฝายน้ำปาด พื้นที่ชลประทาน 1,500 ไร่ และอำเภอทองแสนขัน มี 2 ตำบลที่อยู่ในเขตชลประทาน ได้แก่ ตำบลผักขวง และตำบลบ่อทอง รับน้ำจากฝายคลองตรอน พื้นที่ชลประทาน 18,000 ไร่ สำหรับงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพบูรณาการหน่วยงานต่างๆ จัดเตรียมมาตรการแผนงานที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อการแก้ไขและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในเขตจังหวัดต่างๆ ในกรอบวงเงินจังหวัดละ 200 ล้านบาท โดยในส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับอนุมัติแผนงาน 315 โครงการ วงเงินงบประมาณ 176.15 ล้านบาท ซึ่งการเสนอแผนงานโครงการดังกล่าว จะต้องมีความพร้อมในการขออนุญาตใช้พื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า และนิคมสร้างตนเอง ทำให้ในการเสนอพิจารณาแผนงานโครงการฯไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์พิจารณา เนื่องจากตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มอบหมายให้ โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ดำเนินงานภายใต้ โครงการตามแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2562 เพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด จำนวน 4 โครงการ โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการซ่อมแซมท่อส่งน้ำฝายห้วยลีใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งบประมาณ 224,000 บาท โครงการซ่อมแซม River Outlet พร้อมอุปกรณ์ประกอบ งบประมาณ 279,000 บาท และโครงการงานซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องกว้าน บานระบายโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ งบประมาณ 480,000 บาท ส่วนโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืนในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ งบประมาณ 33.96 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งมีความคืบหน้าร้อยละ 75 ของแผนงานฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน