"วิษณุ" ชี้ เป็นธรรมดา "ฝ่ายค้าน-กลุ่มเคลื่อนไหว" กล่าวหารบ.ต่อพรก.ฉุกเฉิน โยงการเมือง  บอกก็ดีได้เตือนสติให้รัฐบาลได้คิด เมื่อเวลา 09.00 น.ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 มีมติให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนโดยจะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัวโคโรน่า 2019 หรือศบค.ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ว่า เรื่องนี้ต้องรอผลการประชุมศบค. ว่าจะให้ความเห็นชอบตามที่เสนอหรือไม่ เพราะจะต้องฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้ระมัดระวังกันอยู่แล้ว ในเรื่องการคุมเข้ม  สำหรับครั้งนี้คง คุมเข้มในเรื่องของการเดินทางของนักท่องเที่ยวหรือ travel bubble  รวมถึงในวันที่ 1 ก.ค. นี้ โรงเรียนต่างๆจะเปิดเทอม จึงต้องดูแลเกี่ยวกับเด็กๆเป็นกรณีพิเศษ  นอกจากนี้ในส่วนของบริเวณชายแดนก็น่าเป็นห่วงเนื่องจากยังมีการเดินทาง ข้ามไปมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาอยู่พอสมควร         ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จะไม่เข้มงวดกับนักธุรกิจมากเท่ากับนักท่องเที่ยวทั่วไป นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีสองอย่างคือถ้าเข้ามาแล้วอยู่ยาว ก็ต้องกักตัว 14 วันก่อน กับ ถ้าอยู่สั้นแค่3-4 วัน ก็จะมีมาตรการอีกแบบหนึ่ง เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ และเข้าโรงแรมที่จะต้องจ่ายเงินเอง พร้อมกับมีตารางเวลาที่จะสามารถให้ติดตามตัวได้ชัดเจน และต้องชี้แจงด้วยว่าเข้ามาทำธุรกิจอะไรไปไหนบ้าง ผ่านทางเครือข่ายแอพพลิเคชั่นไทยชนะ         "ข้อสำคัญคือด่านที่ตรวจสอบ คือด่านแรกจากประเทศของเขาโดยการตรวจโรค  ด่านที่สองคือมาตรวจเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกโรงแรมที่จะเข้าพักอาศัย โดยการจ่ายเงินเอง  ด่านที่สี่จะต้องจัดทำตารางเวลา ที่จะระบุได้ว่าเดินทางไปไหนมาไหนบ้าง ด่านที่ห้าคือใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ ในการให้ติดตามตัวได้ และด่านที่หกคือมีกำหนดเวลาที่อยู่แน่ชัด ซึ่งขณะนี้แจ้งความจำนงมาแล้วกว่า 20,000 คน"          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มองว่าการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน  มีนัยยะทางการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า  ไม่เป็นไร ก็เป็นอย่างนี้กันทั่วโลก หลายกลุ่มก็มีการออกมาคัดค้าน เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ดี ถือเป็นการเตือนสติให้รัฐบาลได้คิด เมื่อถามว่าหากครบกำหนดประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือนข้างหน้าสถานการณ์โลกยังไม่ดีขึ้น จะใช้กฎหมายใดทดแทนและจะมีการปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ตอนนี้เขาคิดกันอยู่แล้วว่าจะแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อจะได้ไม่ต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป โดยเอามาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใส่ในพ.ร.บ.โรคติดต่อด้วย พ.ร.บ.โรคติดต่อ แก้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2558 แต่รัฐธรรมนูญออกมาเมื่อปี 2560 บางข้อยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ