ภายหลังกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดียกรณี "ฌอน บูรณะหิรัญ" นักสร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง โพสต์คลิปชื่นชมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าตัวจริงน่ารัก ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ข้อความเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า... ได้เห็นคลิปคุณ Sean Buranahiran - ฌอน บูรณะหิรัญ กล่าวชื่นชมความน่ารักของพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ พร้อมบอกเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นกลาง “อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราจะได้เจอเขาจริงๆ” โบว์คิดว่าสำหรับคนที่อยู่ในตำแหน่งบริหารบ้านเมือง เราไม่น่าจะต้องเจอทุกคนหรือไปปลูกต้นไม้ด้วยกันก่อนจึงจะรู้เท่าทันได้ค่ะ มีข้อมูลมากมายให้เราได้ประเมินเพื่อการเลือกของตัวเอง ตลอด 5 ปีของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้าคสช.ที่มีพล.อ.ประวิตรร่วมเป็นคนสำคัญอยู่ในคณะรัฐประหารคสช.ด้วยนั้น มีการออกคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 กว่า 550 ฉบับ ซึ่งนอกจากจะมีที่มาที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย คำสั่งจำนวนมากยังขัดต่อหลักนิติธรรม ตามข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้บันทึกไว้ มีประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมือง ถูกละเมิดสิทธิมากมาย อาทิ - พลเรือน 2,408 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร - 929 คน ถูกเรียกรายงานตัวปรับทัศนคติ - 572 คน ถูกข่มขู่ คุกคาม ติดตาม - 18 คน ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน - 353 กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้น - 155 กลุ่ม ถูกปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก - 673 คน ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมทางการเมือง - 144 คน ถูกตั้งข้อหาพรบ.คอมฯจากการแสดงออกทางการเมือง - 121 คน ถูกตั้งข้อหา ม.116 - และมีสื่อมวลชนถูกละเมิดเสรีภาพและสั่งปิดนับครั้งไม่ถ้วน นอกจากนี้มีข้อมูลที่รวบรวมโดยไอลอว์ (โครงการอินเตอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน) ที่จำแนกประเภทการละเมิดโดยคำสั่งคสช.ที่ออกตามอำนาจม.44 ไว้ ได้แก่ การละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพสื่อมวลชน สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเสรีภาพการแสดงออก (อ่านตัวอย่างตามภาพประกอบ) ในจำนวนคำสั่งนี้ มีบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่คุณฌอนให้ความสนใจด้วยค่ะ บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมไม่อาจตรวจสอบอำนาจรัฐ ทำให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอย่างอุกอาจ ส่งผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือประสบความสำเร็จในการร่างและทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้อำนาจเถื่อน อำนาจมาเฟียแบบนี้ จนได้มาซึ่งกติกาที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ หนึ่งในกติกานั้นคือสว.250 คน ที่คสช.แต่งตั้งไว้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 5 ปี คำสั่งเหล่านี้บางส่วน แม้มีการยกเลิกแล้ว แต่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิก็ได้รับความเสียหาย โดยไม่มีการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมแต่อย่างใด อย่างปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งคสช.ที่ 64/57 ชาวบ้านต้องสูญเสียที่อยู่และที่ดินทำกินโดยไม่มีมาตรการดูแลอย่างเหมาะสม เลยไปถึงการสูญเสียอิสรภาพ (ตัวอย่างข่าวอ้างอิง) https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2517019 ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งนำมาสู่การชุมนุมประท้วงของพี่น้องสมัชชาคนจน เพิ่มพูนจากปัญหาเรื้อรังอื่นๆที่สะสมผ่านการบริหารงานของรัฐบาลคสช. เช่นเดียวกับการปิดสื่อต่างๆที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งไม่เพียงเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน แต่ยังมีความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลเกิดขึ้นต่อสื่อเหล่านั้นด้วย ยกตัวอย่างสถานีโทรทัศน์ Peace TV และ Voice TV ที่ถูกปิดทั้งช่องและรายการหลายสิบครั้ง ส่งผลให้ทั้งสองสถานีต้องหายไปจากหน้าจอในปัจจุบัน ในขณะที่สื่อสนับสนุนรัฐบาลทั้งหลาย ไม่ถูกแตะต้อง ไม่ว่าจะมีมาตรฐานจริยธรรมการทำงานที่ค้านต่อสายตาประชาชนเพียงใด ความเสียหายต่อองค์กรหรือประชาชนเป็นรายบุคคลอาจได้รับการเยียวยาได้ ภายหลังการพิสูจน์ความจริงจากการศึกษาผลกระทบ แต่ที่น่าเป็นกังวลในระดับสูงยิ่งอีกประการ คือความเสียหายเชิงโครงสร้างและหลักการในกระบวนการยุติธรรม ตัวอย่างเช่นการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศ คสช. ที่ 37, 38, 43 และ 50/57 ซึ่งภายหลังได้มีการออกคำสั่งให้โอนคดีไปศาลอาญา ซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน เพราะพลเรือนก็ไม่ควรขึ้นศาลทหารแต่ต้น แต่ประเด็นปัญหาก็คือ ตุลาการศาลอาญาจะต้องรับสำนวนจากศาลทหารมาดำเนินการต่อ นั่นหมายถึงการรับอำนาจและมาตรฐานของศาลทหารในการดำเนินคดีกับพลเรือนด้วย ทั้งที่องค์คณะในศาลทหารนั้น มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ต้องจบนิติศาสตร์มา การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเกิดขึ้นอย่างสะดวกสบายภายใต้อำนาจตามม.44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งใดๆได้ตามอำเภอใจ โดยไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากมีการรับรองไว้ตามม.279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ60 ว่าคำสั่งคสช.ทั้งหมด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และคำสั่งเหล่านั้นมีสถานะเป็นกฎหมายจนกว่าจะมีการออกพรบ.ยกเลิก นั่นหมายความว่าความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นแล้วจะยังมีผลต่อไปไม่สิ้นสุด พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลสำคัญในโครงสร้างอำนาจที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ยังไม่นับกรณีนาฬิกาหรูยี่สิบกว่าเรือน ที่ปปช.ซึ่งมีประธานเป็นคนสนิทของพล.อ.ประวิตร ไม่สามารถมีคำตอบที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายให้สังคม ข้อมูลพื้นฐานก็แค่นี้ก่อนค่ะ ถ้ายังตัดสินไม่ได้ก็ค่อยนัดกันดื่มกาแฟ ในยุคคสช.เขาเรียกการนัดแบบนี้ว่า “ปรับทัศนคติ” บางคนต้องไปดื่มในค่ายทหารสามวันเจ็ดวัน ใครไม่อยากไปก็หลบหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายตายไปก็หลายคน Bow Nuttaa Mahattana