โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบกับซัพพลายเชนอาหารโลก หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อ ในโรงชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์ในหลายประเทศ ล่าสุดจีนสั่งระงับการนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทสันฟู้ด ของสหรัฐฯเป็นการชั่วคราว พร้อมระงับการนำเข้าหมูจากเยอรมนี ส่วนบราซิลผู้ส่งออกไก่เบอร์หนึ่งของโลกก็ต้องสั่งปิดโรงเชือดและบรรจุผลิตภัณฑ์ไก่ เพราะคนงานติดเชื้อมากกว่า 2 พันคน เมื่อหันมามองที่ประเทศไทย ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 8 ของโลก และเป็นผู้นำด้านการส่งออกอันดับ 4 ของโลก มีปริมาณการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ถึง 9.5 แสนตัน มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา ต้องยกความดีให้กับกระทรวงพาณิชย์ที่เดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ขณะทึ่สถานการณ์การระบาดของโควิด ที่กระทบการผลิตและการส่งออกไก่ของบราซิล ส่งผลดีต่อการส่งออกไก่ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาของตลาดจีนและญี่ปุ่นที่หันมาสั่งซื้อไก่จากไทยมากขึ้น พบว่าการส่งออกไก่ขยายตัวดีมากในช่วงมกราคม-เมษายนของปีนี้ ยิ่งในตลาดญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดส่งออกเบอร์ 1 ของไก่ไทย มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดใหญ่อย่างจีนก็เติบโตขึ้นถึง 60% และคาดว่าครึ่งปีหลังการส่งออกไก่ไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มอีก จากการที่จีนประกาศรับรองโรงงานไก่อีก 7 แห่ง ทำให้มีโรงงานไก่ของไทยถึง 21 แห่ง สามารถส่งออกไก่ไปจีนได้ และยังมีโรงงานที่รอการรับรองอีก 6-7 โรงงาน คาดว่าจะได้รับการพิจารณาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ที่จะช่วยผลักดันให้การส่งออกไก่ไปจีนทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 80,000-100,000 ตัน เป็นปีแรก และปี 2563 นี้ ไทยมีเป้าหมายการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณ 980,000 ตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท ขณะที่ในอุตสาหกรรมหมู ที่หลายประเทศต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโควิด และยังมีการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF ในสุกร) มาซ้ำเติม ทั้งจีน ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย รวมถึงการกลับมาระบาดระลอกใหม่ทั้งในเมียนมาและมณฑลยูนนานของจีน ขณะที่ไทยยังคงสถานะ ประเทศเดียวในภูมิภาคที่ปลอดโรค ASF ด้วยความเข้มแข็งของหัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และความร่วมมือของคนในวงการหมู ทั้งปัญหาโควิดและ ASF มีผลโดยตรงต่อปริมาณอาหารของโลก โดยเฉพาะกระทบกับปริมาณผลผลิตหมูและเนื้อหมูในแต่ละประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ทำให้ราคาหมูในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากราคาหมูหน้าฟาร์มในสัปดาห์ที่ผ่านมาของแต่ละประเทศ พบว่า ราคาหมูเป็นของจีนสูงถึง 141 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 110 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 98 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมา 82 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับไทยหมูเป็นหน้าฟาร์มยังยืนราคาอยู่ที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็น “ราคาถูกที่สุดในภูมิภาค” ทั้งๆที่หากดูในรายละเอียด ที่กว่าไทยจะคลองอันดับ “ประเทศปลอดโรค ASF” แล้ว จะเห็นว่าเกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคนี้ค่อนข้างมาก เพราะทุกกระบวนการเลี้ยงหมูในปัจจุบันนั้นต้องเข้มงวดกับเรื่องนี้ ถือเป็น ความปกติใหม่ของคนเลี้ยงหมู ที่แม้ว่าต้องมีต้นทุนเพิ่ม แต่เกษตรกรทุกคนก็ยินดีปฏิบัติตามมาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ภาครัฐแนะนำ ทั้งที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกกว่า 100 บาทต่อตัว จากการใช้ยาฆ่าเชื้อโรคพ่นป้องกันทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง ตลอดจนค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรทั้งหมดยังคงพยายามประคองอาชีพเดียวของพวกเขาให้ไปต่อ เพื่อให้ไทยยังคงมีประชากรหมูเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ไม่ให้ขาดแคลนอย่างที่หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาอยู่ วันนี้ทั้งสถานการณ์โควิด และปัญหา ASF กลายเป็นปัจจัยผลักดันราคาหมูทั่วทั้งภูมิภาคให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนเลี้ยงหมูไทยยังคงยืนหยัดร่วมกันบริหารจัดการทั้งระบบ ให้ราคาหมูพออยู่ได้ หลังจากต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี นับว่าเป็นราคาที่เหมาะสม คนขายอยู่ได้ คนซื้อก็รับได้ และถือว่าคนไทยโชคดีที่นอกจากจะไม่เคยขาดแคลนอาหารแล้ว ยังได้บริโภคเนื้อหมูปลอดภัยในราคาถูกที่สุดในภูมิภาค ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากไทยจะมีอาหารบริโภคในประเทศอย่างพอเพียง และยังเพียงพอสำหรับการส่งออก ที่สำคัญสินค้าเกษตรของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ยิ่งเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก และ ASF ยังกระทบการผลิตหมูในหลายประเทศ ยิ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยควรรีบคว้าไว้ พร้อมเร่งผลักดันไปขายทั่วโลก ต้องไม่มองข้ามโอกาสดีที่สุดที่จะนำครัวไทยสู่ครัวโลกเช่นนี้