“สมคิด”จี้กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะ ปตท.-กฟผ. เร่งลงทุนตามแผน 3 ปี กว่า 1 ล้านล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ จ้างงาน ช่วยชุมชน หลังคาดเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้ชะลอตัวหนัก โดยในส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนมั่นใจประกาศรับซื้อ 1 ก.ค. มั่นใจบล็อกเชนยกระดับรายได้เกษตรกร ขอให้ ปตท.รับซื้อ 20-30 ล้านลิตร นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายพลังงานสร้างไทยว่า ได้ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการลงทุนภายใต้แผนพลังงานสร้างชาติ โครงการลงทุนของ บมจ.ปตท.,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอให้ช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงการท่องเที่ยว มองไปถึงช่องทางจำหน่าย รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งควรจะเร่งรัดโครงการที่จะลงทุนปีหน้ามาเป็นปีนี้ เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจที่หนักมากจากโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่คาดว่าจะเข้า ครม.สัปดาห์หน้า โดยจีนยังไม่ประกาศจีดีพีปีนี้ สิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 เพราะมีรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่มีการเกษตรรองรับเหมือนกันไทย ซึ่งก็อยากให้กระทรวงพลังงานเร่งลงทุนและช่วยเหลือชุมชน ปตท.,กฟผ.ควรร่วมมือกับกองทุนหมู่บ้านเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยว การเกษตร รับเด็กจบใหม่เช่น วิศวะ ไปฝึกงานให้มีงานทำ รวมทั้งดูแลลดราคาก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชน และขอให้สื่อลงข่าวที่สร้างกำลังใจต่อภาคประชาชน เพราะหากลงข่าวเฉพาะเศรษฐกิจตกต่ำด้านเดียวก็ไม่สร้างพลังใจแก่คนไทย ในยามนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยสร้างเม็ดเงินไปสู่ชุมชนทั้งหมด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมแผนพลังงานสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ 1.เร่งรัดการลงทุน 3 ปี (2563-2565) จะมีเงินลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาทประกอบด้วยปี 2563 วงเงิน 203,770 ล้านบาท,ปี 2564 วงเงิน 457,473 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 450,250 ล้านบาทประกอบด้วย การลงทุนของโรงกลั่นน้ำมันตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 5,การลงทุนสถานีแอลเอ็นจี,ศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาค,สายส่งไฟฟ้า,การลงทุนรือถอนแท่นปิโตรเลียม,การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ 2.แผนลดรายจ่ายภาคประชาชน ช่วงโควิด-19 ทั้งลดราคาก๊าซหุงต้ม,ลดราคาน้ำมัน ,นำเข้าแอลเอ็นจีราคาตลาดจร ลดต้นทุนไฟฟ้า, มอบแอลกอฮอล์แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั่วประเทศ รวมเป็นลดรายจ่ายกว่า 40,500 ล้านบาท 3.กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังโควิด-19 เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ลงทุนพลังงานทดแทน นวัตกรรมพลังงาน โดยปี 2563 จะมีเงินกระตุ้นระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 3,600 ล้านบาท,ลงทุน 25,363 ล้านบาท,สร้างรายได้ 2,335 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 8,440 คน โดยจะเห็นผลประโยชน์ชัดเจนปี 2564-2565 วงเงิน 10,139 ล้านบาทและ 15,110 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ คาดว่า ครม.จะพิจารณาเห็นชอบโครงการวันที่ 30 มิถุนายน และกระทรวงพลังงานจะเปิดให้เอกชนสมัครเข้าโครงการเร่งด่วน (Quick Win )100 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือนสิงหาคม ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเริ่มลงทุนต้นปี 2564 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ คาดจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน 2563-2565 จะมีเม็ดเงินลงทุนและรายได้รวม 41,900 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการนำระบบบล็อกเชนมาซื้อขายไบโอดีเซลบี 100 เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร โดยต้องการเห็นราคาผลปาล์มที่สะท้อนกลไกลตลาดที่แท้จริง โดยราคาผลปาล์มไม่น่าจะต่ำกว่า 4 บาท/กก.ซึ่งที่ผ่านมานั้น โครงการพลังงานทดแทน แม้จะมีเป้าหมายหลักยกระดับรายได้เกษตรกรที่กลับพบว่าผู้ที่มีรายได้ทำกำไรสูงสุดกลับเป็นกลุ่มทุน กลุ่มโรงงานบี 100 โรงงานสกัด พ่อค้าคนกลาง ดังนั้น หากใช้บล็อกเชนก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างทดลองระบบและระยะต่อไปได้ให้นโยบาย แก่ ปตท.ว่าควรจะใช้บล็อกเชนมาซื้อขายบี 100 ประมาณ 20-30 ล้านลิตร นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการสร้างรายได้ชุมชนทั้ง กฟผ.,ปตท.และทุกหน่วยงานจะร่วมกันให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ทั้งชุมชนโรงไฟฟ้า ท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท.จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินในราคาทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสร้างห้องเย็น ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือสถานีย่อยนำร่องภาคละ1 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรเช่าห้องเย็นราคาถูก เพื่อยืดอายุผลผลิตและขายได้ราคา โดยจะมีการนำร่องภาคละ 1 แห่ง เช่น สถานีหลังสวน จ.ชุมพร เพื่อเก็บมังคุด เป็นต้น ขณะเดียวกัน กฟผ.จะมีการจัดตั้งบริษัท Innovation Holding ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 40,บริษัท ราช กรุ๊ปถือหุ้นร้อยละ30 และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น ร้อยละ30 เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology ผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร