เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ต้องเปิดประตู โดยจับคู่ประเทศความเสี่ยงต่ำ แต่จะอนุญาตเฉพาะกลุ่มก่อน มีมาตรการควบคุมตั้งแต่ต้นทาง-เดินทาง-มาถึง-ที่พัก-ระหว่างอยู่ในไทย โดยต้องมีประกันสุขภาพโควิด ตลอดเวลาที่อยู่ในไทยจะมีระบบซิสเต็มส์ แทรกกิ้ง ติดตามตัว เสนอเรื่องให้ศบค.แล้ว คาดจันทร์หน้ามีการพิจารณาเรื่องนี้ ระบุต่างชาติเรียงแถวอยากจับคู่กับไทย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การเดินทางรูปแบบ “Travel bubble” ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างประเทศในการเดินทางว่า เป็นการเปิดประเทศให้ผู้คนเดินทางเข้ามา ส่วนหนึ่งอาจไม่ต้องกักตัว 14 วันในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งการตัดสินใจสุดท้ายเป็นเรื่องของทางศบค. คาดจะเป็นวันจันทร์หน้าที่จะมีการพิจารณา ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการที่จะทำให้ผู้ป่วยในไทยเป็นศูนย์ไปตลอดเรื่อยๆ มีราคาที่จะต้องจ่าย ถ้าจะคุมให้ 0 สนิท เป็นต้นทุนที่จะสูงมาก ต้องลดทุกอย่างมาตรการต้องเข้มมาก สูญเสียเศรษฐกิจสังคมสูงมาก แต่ถ้ากลับกันถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยเพิ่มมาก จนระบบประเทศรองรับไม่ได้ อัตราตายจะเพิ่มขึ้น ตอนนั้นจะกระทบเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน ซึ่งจะมีจุดที่ได้ประโยชน์สูงสุด ถ้ายอมให้มีคนไข้ในประเทศจำนวนหนึ่งที่เราจัดการได้ แล้วเศรษฐกิจก็เดินไปด้วยได้ นี่คือหลักการสำคัญ ทำความสมดุลให้เกิดให้ได้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่คิดเรื่องนี้ แต่มีหลายประเทศที่คิดจะทำ เริ่มขยับ ทำทราเวล บับเบิล เพียงแต่ในระยะต้นมีข้อจำกัดบางประการที่อาจจะต้องมีเงื่อนไขมีมาตรการ หลักการ ดูประเทศที่จะจับคู่ ความเสี่ยง โดยจะเลือกประเทศที่มีเสี่ยงต่ำก่อน เช่น จีน แต่อาจเป็นเมืองๆไป ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งความเสี่ยงในเชิงบุคคล โดยต้องให้มีสปอนเซอร์เอเยนซี มีหนังสือเชิญ เฉพาะกลุ่มที่มาทำธุรกิจ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ ครูในโรงเรียนนานาชาติ โดยจะเดินทางมาเองไม่ได้ และความเสี่ยงในเชิงกิจกรรมเมื่อเข้ามา สำหรับมาตรการมี 5 ขั้นตอน ต้นทางมีการตรวจโควิดก่อนขึ้นเครื่อง ต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมโรคโควิด มีวีซ่าออกโดยสถานทูตไทย ต้องอยู่ในประเทศต้นทางไม่น้อยกว่า 14 วัน เมื่อเดินทางต้องปฏิบัติตามมาตรการของสายการบินนั้นๆ ใส่หน้ากากตลอดการเดินทาง เลี่ยงที่จะสัมผัสกับจุดสัมผัสร่วม เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินของไทยจะแบ่งโซน มีการตรวจคัดกรองอีกครั้ง ตลอดเวลาที่อยู่ในไทย จะมีระบบติดตามตัวหรือ แทร็กกิ้งซิสเต็มส์ และในการเดินทางมาที่โรงแรมจะต้องใช้รถของโรงแรมเท่านั้น และต้องมีการพักในโรงแรมที่กำหนดเท่านั้น มีการแยกชั้นเฉพาะของแขกที่มาจากตปท. ที่สำคัญหากเกิดมีไข้ มีอาการน่าสงสัย จะมีระบบส่งต่อในโรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน และที่สำคัญถ้าพบว่ามีการติดเชื้อจริง จะมีระบบการแยกตัวอีกครั้ง นพ.ศุกกิจกล่าวว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ยื่นหนังสือเป็นทางการมาถึงไทย เช่น จีน ญี่ปุน ถึงขี้นตอนที่กำหนด ส่วนใหญ่คิดคล้ายๆ กับไทย โดยหลักการจะนำข้อเสนอของประเทศต่างๆ ที่ยื่นมา มาเจรจากัน ถ้าเจรจากันได้เรียบร้อย ก็จะจับคู่กัน เบื้องต้นจะทำเอ็มโอยูร่วมกันเป็นข้อตกลง ของไทยต้องผ่านครม.เพื่อให้เห็นชอบ ทั้งนี้ มีหลายฝ่ายสงสัยถ้าประเทศที่ทำทราเวลบับเบิลกัน ในหลักการคนไทยที่มาจากในประเทศบับเบิลก็ต้องทำเช่นเดียวกัน เช่น ถ้าเจรจากับญี่ปุ่น คนไทยที่กลับมาจากญี่ปุ่น ก็อาจได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนญี่ปุ่น อาจจะมีแทรกกิ้ง ซิสเต็มส์ เป็น Home Quarantine ไม่ต้องเป็น State Quarantine ซึ่งต้องคุยกันในรายละเอียดต่อไป ในระยะต้นคงปล่อยให้กลุ่มเฉพาะก่อน ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยว ส่วนหากกรณีที่ประเทศจับคู่กับไทย มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะยกเลิกการจับคู่หรือไม่นั้น เมื่อข้อมูลเปลี่ยนไป ก็คงต้องมีข้อตกลงว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องสามารถเปลี่ยนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ โดยทั่วไปถือว่าประเทศไทยค่อนข้างเนื้อหอม เพราะคุมสถานการณ์โรคได้ดี มีติดต่อกันเข้ามาหลายประเทศ