สายวันนี้(24 มิ.ย.63) ที่วัดชลธาร ต.บางไทร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมคณะ ได้เดินทางลงตรวจเยี่ยมกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ ก่อนเดินทาลงเรือเพื่อสำรวจข้อเท็จจริงการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ทั้งนี้สืบเนื่องจากได้มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะและเกิดความขัดแย้งขึ้นจากการทำประมงคอกหอยในพื้นที่บริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งพื้นที่อ่าวบ้านดอนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค.52 มีพื้นที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงก่อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่สาธารณะและความขัดแย้งตามมา ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ได้เข้าเจรจาและทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ และได้จัดชุดสนับสนุนรักษาความสงบเรียบร้อยอ่าวบ้านดอน เพื่อป้องกันเหตุขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับกลุ่มทุนผู้ประกอบการคอกหอยในพื้นที่ นอกจากนี้ได้หารือกับหน่วยเกี่ยวข้องในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีข้อยุติในเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการรื้อถอนคอกหอย และสิ่งปลูกสร้าง โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พื้นที อ.เมือง และ อ.พุนพิน ระยะที่ 2 พื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ระยะที่ 3 พื้นที อ.ท่าฉาง และ อ.ไชยา ซึ่งผู้ที่สร้างคอกหอยและสิ่งปลูกสร้างต้องรื้อถอนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ออกประกาศ นอกจากนี้ให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของขนำในคอกหอยด้วย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ได้จัดทำแผนงานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่อ่าวบ้านดอน และกำหนดตัวชี้วัดรายกิจกรรม สำหรับแผนงานการดำเนินการของ ศรชล. ประกอบด้วย แผนระยะสั้น บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดทั้งในส่วนของการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ การทำประมงผิดกฎหมาย จัดเจ้าหน้าที่และยุทโธปกรณ์ ลาดตระเวน เฝ้าตรวจเพื่อระวังป้องกันกำรกระทำผิดกฎหมาย และระวังป้องกันความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ และแผนระยะยาว ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการอนุรักษ์และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกันและอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ในห้วงต่อไป ศรชล. จะได้กำกับดูแลและควบคุมการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการต่อปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป.