เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีน ว่า วันนี้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้หารือเรื่องงบประมาณเงินกู้ จำนวน 4,500 ล้านบาท ตามนโยบายได้สำรองให้สถาบันวัคซีนฯ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและร่วมทำการค้นคว้าวิจัยวัคซีน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลไทย และ สธ. มีความตั้งใจว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถให้บริการ สืบสวนโรค แก้ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรได้แล้ว เหลืออย่างเดียวคือ วัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงมีความตั้งใจอย่างยิ่งในการค้นคว้าวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน “วัคซีนมีข่าวดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ผู้วิจัยยืนยันว่ามีการฉีดในหนูทดลองมาหลายตัว และทุกครั้งมีผลลัพธ์ออกมาในทางบวกอย่างมาก คือ มีการเพิ่มคุ้มกันในสัตว์ทดลอง ต่อไปคือ ทดลองในลิง ครั้งที่ 2 และหากเป็นผลที่น่าพอใจของผู้วิจัย ก็จะต้องทดลองในมนุษย์ โดยต้องขออนุญาตกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราบอกไว้ว่า การทำให้เกิดการยืนยันผลหรือกระบวนการต่างๆ ในการผ่าน อย. ขอให้ไม่ต้องกังวล เราจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ และยืนยันว่า ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่ประเทศที่มั่นคงในทุกมิติได้อย่างรวดเร็วที่สุด” นายอนุทิน กล่าว ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เบื้องต้นผ่านการทดลองในหนู จำนวน 2 เข็ม ดีใจมาก เพราะหนูทุกตัวให้ผลลัพธ์คือได้ภูมิคุ้มกันขึ้นมาก โดยเจือจางมากกว่า 20,000 เท่า ก็สามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้ และเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน ได้ฉีดเข็มที่ 2 ในลิง และหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ก็จะได้ผลของการฉีด และถ้าได้ผลที่น่าพอใจโรงงานจะผลิตที่จองไว้ก็จะเริ่มผลิตอีก 1 หมื่นโดส และหากเป็นตามแผนก็จะทยอยหาอาสาสมัครคนไทยที่แสดงความจำนงรับการฉีดวัคซีน แต่ขณะนี้ยังรับไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของ อย. แต่คาดว่าเป็นปลายเดือนตุลาคม “ขณะเดียวกัน มีการเตรียมโรงงานในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตในปีหน้า เป้าหมายสูงสุดของการฉีดในลิงคือ หลังจากเข็ม 2 ไป 2 สัปดาห์ เป็นสิ่งที่จะสามารถฉีดในอาสาคนได้” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า การศึกษาในมนุษย์ต้องใช้พื้นที่ศึกษาที่มีการระบาด แต่ในประเทศไทยพบการติดที่น้อย จะมีการวางแผนอย่างไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สธ.และสถาบันวัคซีนฯ หารือกัน ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน และแหล่งทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เพราะอาจมีการไปทำข้ามประเทศด้วย “เราก็หวังว่าประเทศไทย จะไม่มีการระบาดระลอก 2 แต่หากมีระบาดในประเทศ เราก็จะทำในประเทศ แต่เราไม่อยากให้เห็นอย่างนั้น แต่เรื่องวัคซีนที่เราต้องลุกมาสู้ เราตามหลังต่างประเทศอยู่ 6 เดือน ซึ่งวัคซีนตัวแรกของต่างประเทศกำลังเข้าระยะที่ 3 ประมาณเดือนหน้า ถ้าสมมติว่าเขามีโรคระบาดเยอะในอเมริกา บลาซิล และมีการทำวิจัยในนั้น แล้วสิ้นปีได้ผลว่าวัคซีนดีมาก วัคซีนตัวแรกที่จะเข้าวิน (Win) หากเป็นเทคโนโลยีตัวเดียวกับเรา เราก็จะดีใจ เพราะว่า จะได้รู้ว่าเทคโนโลยีตัวเดียวกับเรา มีภูมิขนาดไหนจึงจะป้องกันได้ และจะได้หารือกับ อย. ไทยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้หลังเข็มที่ 2 ที่อาสาสมัครฉีดไปประมาณพันรายขึ้นไปและภูมิเท่ากับอเมริกา เราจะผ่านด่านได้หรือไม่ ก็จะขอการอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉิน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่าพื้นที่เพื่อนบ้านที่ดูไว้ มีที่ใดบ้าง ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า วัคซีนที่ผลิตมีบางส่วนที่จะต้องรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ นอกจากเพื่อคนไทยแล้วยังเพื่อประเทศในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยเขาติดต่อมาว่าหากเราพร้อมฉีดในมนุษย์ ก็อยากจะร่วมพัฒนาด้วยและ เมียนมา ลาว กัมพูชา และปากีสถาน โดยบริษัทที่เรารับถ่ายทอดเทคโนโลยีมา เขาขอความจำนงมาเช่นกัน เมื่อถามว่าเกณฑ์ของอาสาสมัคร จะมีต้องอย่างไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า หลักคร่าวๆ คือ จะไม่ฉีดในผู้สูงอายุก่อน จะฉีดในอายุ 18-60 ปี แต่มีบางการพัฒนาที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากโรคโควิด-19 จะเกิดในผู้สูงอายุด้วย จึงออกแบบมาให้มีการฉีดในกลุ่มอายุน้อยก่อนคือ อายุ 18-60 ปี และเมื่อปลอดภัย ก็จะฉีดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเราจะเตรียมเช่นนี้ “ระยะที่ 1 เราอาจจะถึง 150-200 คน ในอาสาสมัคร แบ่งเป็นกลุ่มละ 15 คน ฉีดโดสต่ำ กลาง สูง แต่แบ่งเป็นกลุ่มอายุอีก จึงต้องใช้ประมาณ 150 คน บวกลบ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวและว่า หากเราไม่ต้องทำเฟสที่ 3 โดยตามแผนคือระยะที่ 1 ในอาสาสมัคร 150-200 คน และเริ่มในเดือนตุลาคม คาดว่าสิ้นปีนี้จะเสร็จในระยะที่ 1 แน่นอน เนื่องจากดูความปลอดภัยในระยะสั้นเต็มที่คือ 3 เดือน และในการวิจัยวัคซีนในโรคระบาด เรียกว่า การต่อเนื่อง ไม่ใช่การรอ ดังนั้นต้นปีเราก็จะเริ่มระยะที่ 2 เลย ซึ่งระยะที่ 2 อาจจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน และถ้าเราไม่ต้องทำระยะที่ 3 และโรงงานไทยมีความพร้อม โดยจะต้องเตรียมโรงงาน 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เข็มที่ 1 โรงงานได้ซื้อเครื่องมือแล้ว เทรนคน และขึ้นทะเบียน อย. เพราะฉะนั้น 9 เดือน คือ กลางปี 2564 เราผลิตสำหรับคนส่วนใหญ่ได้เลย นั้นคือระยะเร็วสุด แต่จะต้องมาดูในแต่ละขั้นตอนอีกครั้ง” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว