“สมคิด” เผยผลจากโควิด-19 ธุรกิจจ่อปิดตัวเพียบในเดือนก.ค. ทำให้คนตกงานกลับถิ่นฐานถึง 2 ล้านคน ธ.ก.ส.อัดกว่า 3.1 แสนล.คิกออฟโครงการเกษตร นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายรัฐมนตรี กล่าวในงานแถลงนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยและโครงการ New Gen Hag บ้านเกิด โรงแรมคอนราด แบงคอก จัดโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรทางเศรษฐกิจของไทยต้องหยุดไป 1 ไตรมาส ไม่ได้เกิดเฉพาะไทย แต่เกิดกับคนทั้งโลก เมื่อทุกอย่างหยุดชะงัก 1 ไตรมาส รัฐบาลต้องเยียวยาคนที่เดือดร้อน กระทรวงการคลังทำไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีความพร้อมข้อมูล ช่วงแรกมีการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ ก็บอกผู้บริหารกระทรวงการคลังไปว่า ต้องอดทน เอาประสบการณ์ ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง และคำวิพากษ์วิจารณ์มาปรับเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น “ถ้าดูแค่สั้นๆ การทำให้โควิดเป็น 0 ถือเป็นชัยชนะใช่ไหม เมื่อโควิดเป็น 0 แล้วยังไงโจทย์ต่อไปต้องดูว่าหลัง 1 ไตรมาสแล้ว เราต้องดูความเป็นจริง เมื่อโลกยังไม่ดีขึ้น แม้ไทยจะดีขึ้น และมีการกระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศดังนั้นยังผ่อนคลายไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องผ่อนปรนอย่างมีเหตุมีผล อย่างระมัดระวัง วันที่เราประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ในเดือนมกราคม เราคุยกันว่าการเยียวยาต้องมีเงิน 1 ก้อน คลังเตรียมออก พ.ร.ก. แต่หลังจากนั้นในครึ่งปีหลังจะทำอย่างไร เราก็คุยกันว่าต้องใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการเยียวยา นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ในจังหวะแบบนี้ตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญของไทย ไทยไม่เคยมีโอกาส เพราะไม่มีงบขนาดนี้”นายสมคิดกล่าว นายสมคิดกล่าวต่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนเกือบ 2 ล้านคน ต้องกลับถิ่นฐานกลับบ้านเกิดในชนบาท พวกเขาจะเอาอะไรกิน ตรงนี้รัฐบาลมีแนวคิดให้กระทรวง หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการขึ้นมา มีคณะกรรมการกลางกลั่นกรองไม่ให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และเร่งรัดไปว่าในเดือนมิถุนายนนี้ต้องเริ่มต้นแล้ว เพราะกรกฎาคมจะเริ่มมีธุรกิจทยอยปิดตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของโลกจากโควิด-19 ยังไม่ดีพอ ส่งออกยังไม่ดี โรงงานยังไม่เปิดตัวเต็มที่ ท่องเที่ยวยังมาไม่ได้ ดังนั้นในเดือนมิถุนายน- กรกฏาคมต้องเร่งคลิกออฟโครงการ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนอนุมัติโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปแล้ว ล่าสุดธ.ก.ส.เริ่มคลิกออฟโครงการฟื้นฟูเกษตรกรแล้ว เป้าหมายคือต้องการให้เกิดความเข้มแข็งการผลิตเกษตร ไม่อยากให้มาช่วยหลือแบบจำนำข้าวทุกปี เพราะแบบนี้เป็นวิธีโบราณแล้ว นายสมคิดกล่าวต่อว่า ธ.ก.ส.กำลังดำเนินการโครงการที่ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก ทำให้เขามีเงินจุนเจือครอบครัว สร้างอนาคต การแก้ปัญหาเกษตรไม่ใช่เน้นตัวบุคคล แต่ต้องรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง เน้นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เน้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งสั่งการไปว่าต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ ดูแลทั้งด้านการผลิต และตลาด ร่วมมือกับสถานศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนา ไม่ใช่เกษตรกรแบบเก่า ที่ปลูกพืช รอให้พ่อค้ามาซื้อสินค้าเท่านั้น การเดินไปถึงระดับดังกล่าวต้องอาศัยหัวขบวน ในการเชื่อมต่อขบบวนการผลิต ซัพพลายเชน การจัดจำหน่าย โดยในการช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้ธ.ก.ส.ปล่อยเงินกู้และคิดดอกเบี้ยเพียง 0.01%ต่อปี รวมถึงให้นโยบายไปว่าจัดตั้งกองทุนสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในลักษณะเดียวกันกองทุนอสังหาริมทรัพย์ได้หรือไม่ “ขณะนี้เรากำลังเตรียมโครงการดูแลคนตกงานกลับไปอยู่บ้าน 2 ล้านคน ให้โอกาสเชื่อมคนเหล่านี้ในการเชื่อมต่อกับหัวขบวนดูแลการให้สินเชื่อ ร่วมทุน จะเป็นเชื่อมโยงเอกชน มหาวิทยาลัย เพื่อให้เขาเติบโต นอกจาก ธ.ก.ส. แล้วจะมีธนาคารออมสินออมสิน มีเอสเอ็มอีแบงก์ไปช่วย และในวันที่ 29 มิถุนายน ไปหารือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อเข้าไปช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก และกลุ่มเอ็นพีแอล”นายสมคิดกล่าว ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า คาดว่าโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ของธ.ก.ส.จะทำให้มีเม็ดเงินเติมลงไปในระบบเศรษฐกิจอีกกว่า 3.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เม็ดเงินจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ธ.ก.ส.สนับสนุนประมาณ 2.6 แสน ล้านบาท และงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนโดยตรงอีกจำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย มีทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินงบประมาณ 170,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 10,720 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว(459 มีกินมีใช้) และสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ อีก 200,000 ราย โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน 3 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท 2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) วงเงินงบประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยมีรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง นำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกิน 50% ของมูลค่าการลงทุน ไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยธ.ก.ส.จะปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ 2 ประเภท คือ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท และ3. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) วงเงินงบประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีงบสนับสนุนจากรัฐอีก 21,675 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกิน 50% ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร ผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” เพื่อค้นหาทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เชื่อมั่นในวิถีเกษตรสร้างสรรค์ เข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะนำเสนอโครงการในรูปแบบรายการเรียลลิตี้(Reality) เงินรางวัลรวมกว่า 5 ล้านบาท เพื่อสร้างแนวคิด แรงบันดาลใจ ผสมผสานความบันเทิงจากเหล่าดาราศิลปินที่มาร่วมในรายการ กำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31