“ศักดิ์สยาม”ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมทางรถไฟ หลังได้แนวเส้นทางเบื้องต้น แนวเหนือใต้ 3 เส้นทางตะวันออกตะวันตก 5 เส้นทาง โดย สนข.-ทล.จับมือทำ master plan ภายใน 1 ปี ลงทุนแบบ PPP โดยจะเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสัปดาห์หน้า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการร่วมระหว่างทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ครั้งที่ 2 โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมประชุม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข.รายงานความคืบหน้าการศึกษาแนวเส้นทางเบื้องต้นตามโจทย์ที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การพัฒนาเส้นทางร่วมระหว่างทางรถไฟและมอเตอร์เวย์นั้น ต้องเป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เป็นการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่เพื่อให้เกิดความเจริญ พิจารณาต้นแบบโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เกิดประสิทธิภาพจากประเทศต้นแบบในต่างประเทศ และใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ในการศึกษารายละเอียด โดย สนข.ได้นำเสนอข้อมูลการศึกษาจากประเทศที่มีโครงข่ายถนน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี และผลการศึกษาลงลึกถึงแนวเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ แบ่งเป็นแนวเส้นทางเหนือใต้ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กม. คือ แนวเส้นทางจากเชียงราย- สงขลา ,หนองคาย-แหลมฉบัง และ บึงกาฬ- สุรินทร์ แนวตะวันออก- ตะวันตก 5 เส้นทางทาง คือ จังหวัดตาก-นครพนม,ตาก-อุบลราชธานี,กาญจนบุรี-สระแก้ว,กาญจนบุรี-ตราด และภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี โดย สนข.และกรมทางหลวงรับเป็นเจ้าภาพที่จะทำการศึกษาแผนแม่บทหรือ Master Plan โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษาภายในระยะเวลา 1 ปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมกล่าวว่า ขอให้ สนข.จัดทำให้เกิดความชัดเจนทั้งเส้นทางและรูปแบบการลงทุน โดยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าจะนำข้อมูลการพัฒนาโครงการทั้งหมดนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งนี้ระหว่างการประชุมได้มีการเสนอแนวคิดถึงแนวทางการพัฒนาโครงการร่วมระหว่างทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ เช่น ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ขอให้มีการศึกษาลงลึกโครงการต้นแบบในต่างประเทศ โดยให้ใช้ประเทศที่มีโครงการลักษณะทางร่วมระหว่างมอเตอร์เวย์และรถไฟที่โครงการประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นโครงการต้นแบบ การพัฒนาโครงการขอให้พิจารณาศึกษาวิธีการลงทุน ประกอบด้วย การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP เนื่องจากว่าโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทั้งการลงทุนก่อสร้างและการจัดกรรมสิทธิ์เวนคืนที่ดิน ขณะที่กรมการขนส่งทางรางขอให้พิจารณารายละเอียดของโครงการรถไฟสายใหม่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการรถไฟก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย- เชียงราย- เชียงของ หากกระทรวงคมนาคมจะมีการปรับรูปแบบให้มีการพัฒนาโครงการรวมเส้นทางระหว่างมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ ก็จะต้องพิจารณาว่าจะต้องชะลอโครงการเหล่านี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับก่อสร้างแนวรถไฟและเขตทางที่ซ้ำซ้อนกัน