"ศบค."แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับจาก"อียิปต์-กาตาร์" เพิ่ม 5 ราย ส่วนในไทย 29 วัน ไร้คนติดเชื้อ ด้าน"บิ๊กตู่"ชี้พรก.ฉุกเฉินยังมีความจำเป็น แจงจะพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด "ศธ.-สธ."แจกคู่มือ"เปิดเทอม"เน้นนร.ไม่เกินห้องละ 20-25 คน "อนุทิน"ยันวัคซีนโควิดคืบ ไม่เน้นเร็ว แต่ปลอดภัย เตรียมจัดงบฯหนุนการทดลองทั่วประเทศ ขณะที่"ฮู"ผวาพิษโควิดรอบ 2 อาละวาดหนัก วอนโลกกลับมาคุมเข้มป้องระบาด ส่วนสถานการณ์ไวรัสมรณะยังลุกลามไม่หยุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ และเหยื่อที่เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า สำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะต่ออายุหรือไม่ หากมีความจำเป็นก็ต้องใช้ และต้องมองว่าที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ยังมีความจำเป็น แต่พยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด โดยใช้กฎหมายเชิงบูรณาการ ถ้าไม่ควบคุมแบบนี้ก็คงไม่ได้แบบทุกวันนี้ ซึ่งการจะต่อหรือไม่ต่อไม่ใช่ตนคนเดียว และอยากให้ย้อนกลับไปดูด้วยว่าถ้าไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะได้ถึงวันนี้หรือไม่ และสถานการณ์วันนี้จบแล้วหรือไม่ หลายประเทศทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อ ยืนยันไม่ได้ใช้กฎหมายกดดันใคร หลายคนจ้องแต่เรื่องการเมืองยืนยันตนไม่ได้จ้องเรื่องการเมือง ทำไมต้องเคลื่อนไหวกันตอนนี้ มันใช่เวลาหรือไม่ ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 5 ราย จากสถานกักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine) ทั้งนี้ภายในประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมา 29 วันแล้ว มีรักษาหายเพิ่ม 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ส่งผลให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,156 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศคงเดิม 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่เฝ้าระวัง 219 ราย หายป่วยรวม 3,023 ราย ยังรักษาในรพ. 75 ราย เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย แบ่งเป็น 1.เดินทางกลับมาจากอียิปต์ 2 ราย ได้แก่ เพศชาย อายุ 31 ปี เป็นนักศึกษามาจากไคโร และเพศหญิงอายุ 22 ปี อาชีพแม่บ้าน โดยทั้ง 2 คน เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 9 มิ.ย. พักสถานที่เฝ้าระวัง จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 13 มิ.ย. ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิ.ย.พบเชื้อแต่ไม่มีอาการ 2.กลับมาจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ หญิงอายุ 31 ปี ชายอายุ 22 ปี อาชีพพนักงานนวดสปา และชายอายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถเครน เดินทางถึงไทยวันที่ 16 มิ.ย. เข้าพักในสถานที่เฝ้าระวัง จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันวันที่ 21 มิ.ย. ผลตรวจพบเชื้อ โดยทุกรายไม่มีอาการ พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 9.18 ล้านราย เป็นรายใหม่ 1.4 แสนราย เสียชีวิตเพิ่ม 3.6 พันราย เสียชีวิตรวม 4.74 แสนราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด คือ 2.38 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.1 หมื่นราย ส่วนบราซิลป่วยรวม 1.11 ล้านราย เป็นรายใหม่ 2.4 หมื่นราย ขณะที่เม็กซิโกเป็นอันดับ 13 ของโลก มีผู้เสียชีวิตรายใหม่มากที่สุด 759 ราย ฝั่งเอเชียยังคงเป็นอินเดียที่มีผู้ป่วยรวมมากที่สุด และป่วยรายใหม่มากที่สุด คือ ป่วยรวม 4.4 แสนราย และรายใหม่ 1.3 หมื่นราย พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลพบการติดเชื้อในคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตอนใต้ เช่น ฟลอริดา เซาธ์แคโรไลนา จอร์เจีย เท็กซัส ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แรกๆ ที่เปิดเมืองอีกครั้ง และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเข้าได้กับผู้ป่วยในไทยของเรา คือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นวัยทำงานส่วนใหญ่ จึงต้องเฝ้าระวัง คนวัยทำงาน ถ้าจะไปทำงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองไม่เอาเชื้อมาติดคนที่บ้าน อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ทานอาหารรักษาระยะห่าง โดยใช้ช้อนกลางตัวเอง เมื่อถามถึงความพร้อมในการเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. พญ.พรรณประภา ตอบว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมมือกันจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตาม เน้นปลอดภัยการแพร่เชื้อโควิด มีจุดคัดกรองรับส่งนักเรียน วัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน บุคลากร ครู และทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา มีจุดล้างมือเพิ่มขึ้น การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง เช่น ประถมศึกษาไม่เกิน 20 คนต่อห้อง มัธยมศึกษาไม่เกิน 25 คนต่อห้อง หากนักเรียนมีจำนวนเกิน อาจสลับกันเรียน เช่น เรียน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับเรียนอังคาร พฤหสบดี หรือสลับวันคู่วันคี่ ตามแต่ละโรงเรียนเห็นชอบ โดยเน้นย้ำผู้ปกครองว่า หากลูกหลานไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ควรให้อยู่ที่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน และฝากว่าเวลาไปเรียนต้องสวมหน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อย รักษาระยะห่างระหว่างเพื่อนๆ กันก่อน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประกาศเป็นหนูทดลองวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ว่า คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนภาคเอกชนกำลังค้นคว้าวิจัย ซึ่งขณะนี้ผลในการทดลองกับสัตว์เป็นที่น่าพอใจ และจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อฉีดในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น คาดว่าวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะพบกับคณบดีแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ และสถาบันวัคซีนเพื่อจัดงบประมาณไปสนับสนุนการทดลองวัคซีนของสถาบันการแพทย์ต่างๆในประเทศไทย เราจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่า จะสามารถผลิตวัคซีนเสร็จก่อนกำหนดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องการผลิตให้ทันไม่สำคัญเท่ากับการผลิตให้ปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เราไม่สามารถก้าวล่วงได้ เรามีเพียงหน้าที่สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) แถลงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลับมาดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง โดย ดร.กีบรีเยซุส กล่าวว่า ดูเหมือนว่าเกือบทุกวันจะมีตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นจนน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1.83 แสนคน จนถือเป็นสถิติใหม่รอบ 24 ชั่วโมงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา พร้อมกันนี้ ผอ.องค์การอนามัยโลก ยังแนะนำด้วยว่า นอกจากการกลับมาใช้มาตรการป้องกันแพร่ระบาดที่เข้มงวดอีกครั้งแล้ว บรรดาประเทศต่างๆ ยังต้องดำเนินการตรวจโรคแก่ผู้ต้องสงสัยแบบเชิงรุกอีกด้วย รวมถึงการแยกผู้ติดเชื้อ ตลอดจนติดตามผู้ที่ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ผอ.ดับเบิลยูเอชโอ ได้แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทวีปอเมริกา ทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมถึงทวีปเอเชียใต้ และบรรดาประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคกำลังอยู่ในช่วงสูงสุด หรือกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดในบรรดาประเทศใหญ่ๆ เหล่านี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้ล่าสุดมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจำนวน 9,192,751 ราย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 474,445 ราย และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายมีจำนวนสะสม 4,939,422 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 2,388,153 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 122,610 ราย