ไทยออยล์ชี้ราคาน้ำมันจะไม่ลดลงแรง แม้จะมีการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ใช้แผนปรับประสิทธิภาพ เชื่อมั่นแข่งขันได้ไม่ว่าธุรกิจจะผันผวน ชี้ลดราคาหน้าโรงกลั่นกระทบไม่มากนัก พร้อมศึกษาแผนต่อยอด CFP เสร็จสิ้นต้นปีหน้า พร้อมร่วมทุนทุกกลุ่มทุน และเล็งขยายธุรกิจไฟฟ้าด้วยตนเอง นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดว่า ราคาน้ำมันจนถึงสิ้นปีจะอยู่ในระดับประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากที่เคยต่ำสุดเพียงกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงทั่วโลกล็อกดาวน์จากการป้องกันโควิด-19 ส่วนการที่พบการระบาดระลอกที่ 2 หลายประเทศเชื่อมั่นจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ความต้องการใช้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเช่น โอเปกพลัสยังคงจับมือในการลดกำลังผลิตเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวตยังอาสาที่จะลดกำลังผลิตที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน,0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวันตามลำดับในเดือนมิถุนายน 2563 นอกเหนือจากข้อตกลงที่ให้ไว้ ทั้งนี้ในส่วนของไทยออยล์ นับเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถปรับระบบการการกลั่นการจำหน่าย จึงเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการไปได้ด้วยดีไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยใช้แนวคิด LAST MAN STANDING ทั้งปรับโรงกลั่นให้ยืดหยุ่น ปรับการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพ ควบคุมต้นทุนและบริหารความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติขอความต้องการใช้โรงกลั่นได้ลดกำลังกลั่นเพียงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 95 คาดว่าทั้งปีกำลั่งกลั่นเฉลี่ยจะประมาณร้อยละ 100 ส่วนกรณีกระทรวงพลังงานให้ลดราคาหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์ต่อลิตรนั้น ก็กระทบบ้าง แต่เนื่องจากตลาดน้ำมันเป็นกลไกเสรี แต่ละโรงกลั่นจะมีวิธิการบริหารและการขายที่แตกต่างกัน ราคาหน้าโรงกลั่นก็จะแตกต่างกัน ผลกระทบจะไม่มากนัก โดยจากที่ไทยออยล์ออกหุ้นกู้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปเมื่อเร็วๆนี้ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากจะเห็นได้ว่า เกิดจากนักลงทุนทั่วโลกมั่นใจในไทยออยล์ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP ) และเมื่อรวมกับวงเงินที่มีอยู่เดิมประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันมีวงเงินรวม 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ลงทุนถึงปี 2564 ทำให้ปีนี้ไม่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการลงทุน แต่อาจจะพิจารณาเรื่องการรีไฟแนนซ์ หรือซื้อหุ้นกู้คืนหากเห็นว่าตลาดมีความเหมาะสม โดยการออกหุ้นกู้รอบล่าสุดครั้งนี้ส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ประมาณร้อยละ4 สำหรับโครงการ CFP มูลค่าลงทุน 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายกำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเสร็จปี 2566 และขณะนี้กำลังศึกษาโครงการต่อยอดเพื่อนำวัตถุดิบไปผลิตปิโตรเคมีร่วมกับกลุ่ม ปตท.เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะศึกษาเสร็จต้นปี 2564 "หลังจาก CFP โรงกลั่นฯ จะใหญ่ขึ้นอีกร้อยละ 40 จึงร่วมกับกลุ่ม ปตท.เพื่อศึกษาเรื่องลงทุนปิโตรเคมีให้มี Value Chain ที่ยาวขึ้นในลักณะเป็น world scale เช่น สายโอเลฟินส์ กำลังผลิต PE 1.2 ล้านตัน/ปี สายอะโรเมติกส์ กำลังผลิต PX 1.5 ล้านปี แต่ต้องยอบรับว่าวัตถุดิบของไทยออยล์จะไม่เพียงพอ เราก็ต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเป็นกลุ่ม ปตท. หรือกลุ่มอื่นๆ" ส่วนระยะยาวไทยออยล์ตั้งเป้าหมาย 10 ปี (2563-2573) บริษัทกำหนดเป้าหมายตามแผนเดิมที่จะมีกำไรสุทธิแตะระดับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้โครงการ CFP ที่แล้วเสร็จ กระจายพอร์ตรายได้และกำไรให้หลากหลายขึ้นเป็นธุรกิจปิโตรเลียมร้อยละ 40,ปิโตรเคมีร้อยละ40,ไฟฟ้าร้อยละ 15 และอื่นๆร้อยละ 5 เมื่อเทียบปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไร จากธุรกิจกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ร้อยละ 70-80% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอะโรเมติกส์และโรงไฟฟ้า โดยพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันมาจากการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน บมจ.โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี (GPSC) ประมาณร้อยละ 25 แต่ในอนาคตเห็นว่า GPSC อาจจะเติบโตเร็วมากกว่าปัจจุบันไม่ได้มากนัก ทำให้ในกลุ่ม ปตท.ร่วมกันพิจารณาที่จะช่วยกันดำเนินการเพื่อร่วมกันขยายพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าให้เติบโต สำหรับแนวทางที่ทำให้ไทยออยล์ปรับตัวได้ทุกการเปลี่ยนแปลง หรือ Last Man Standing มาจาก 5 ด้านได้แก่ 1.Competitive Configuration ปรับปรุงหน่วยกลั่นให้มี complexity สูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2.Operation & Commercial optimization & Flexibility ปรับเปลี่ยนการผลิตและการซื้อขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและพร้อมรับมือความผันผวนของตลาด เพื่อการทำกำไรสูงสุด 3.Productivity improvement เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ บริการ การซื้อขาย และรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงการนำเทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม4. Cost control ควบคุมต้นทุน เพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายบริษัทให้ต่ำกว่าแผนร้อยละ 20-30 และ 5.Risk management บริหารความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่รับได้ ขณะที่แนวโน้มภาพรวมธุรกิจของบริษัทไตรมาส 2/2563 มีทิศทางที่ดีกว่าไตรมาสแรกที่มีผลขาดทุนสุทธิ 13,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทุนจากสตอกน้ำมัน 10,800 ล้านบาท แต่จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน จากประมาณ 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในสิ้นไตรมาส 1/2563 จะส่งผลให้มีกำไรจากสตกอกไตรมาส 2 นอกจากนี้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของบริษัทลูก และในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน