เกษตรฯ จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรแล้ว 2 งวด กว่า 7.1 ล้านราย พร้อมอุทธรณ์ผู้มีสิทธิ์เพิ่มเติม เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ชะลอชำระหนี้และบังคับคดี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรแล้ว 2 งวด เกษตรกรประมาณ 7.1 ล้านคน ส่วนเกษตรกรอุทธรณ์มายังกระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 190,000 รายนั้น คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์พิจารณาตามหลักเกณฑ์และมติ ครม.พบว่าข้ออุทธรณ์ของเกษตรกรบางกลุ่มตกไป ได้แก่ ข้าราชการ ข้าราชบำนาญ และลูกจ้างราชการ ตลอดจนผู้ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการอื่นของรัฐไปแล้ว ขณะนี้เหลือข้ออุทธรณ์ของเกษตรกรกว่า 50,000 ราย ทั้งหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนระดับท้องถิ่น ระดับกรม และคณะกรรมการฯ จะเร่งพิจารณา หากมีคุณสมบัติครบและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการอื่นใด กระทรวงเกษตรฯ จะให้สิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้กู้ยืม (ลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านหนี้สิน โดยยกเว้นดอกเบี้ยผู้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 0 ต่อปีของเงินต้น ยกเว้นลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีและศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำพิพากษาตามยอมแล้ว งดขายทอดตลาดแก่ผู้กู้ยืม/ผู้ค้ำประกัน และชะลอการบังคับคดีแก่ผู้กู้ยืม/ผู้ค้ำประกัน เว้นแต่กรณีใกล้สิ้นระยะเวลาบังคับคดี นายอนันต์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์รายงานถึงมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมี 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 710 แห่ง โดยประสานความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ 48,800 ล้านบาท ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก และขอสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี ส่วนสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 917 แห่ง เงินต้น 2,613.89 ล้านบาท ให้ขยายเวลาชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 โดยสหกรณ์จะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีสมาชิก 108,740 ราย ได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ เฉลี่ยรายละ 24,000 บาท ด้านกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 1,392 กลุ่ม มูลหนี้ 704.98 ล้านบาท จะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี คือ ขยายเวลาชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มเกษตรกรจะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยรวมถึงค่าปรับกับสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 111,360 ราย โดยได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ เฉลี่ยรายละ 6,330 บาท  สำหรับมาตรการที่ 2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินและปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ โดยผ่อนผันขยายระยะเวลาชำระหนี้และ/หรือพักชำระหนี้ของสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร 2,660 แห่ง สมาชิกได้รับผลประโยชน์ 5.79 ล้านคน ต้นเงินกู้ 1,296,843.76 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 223,000 บาท ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50 คิดเป็นมูลค่าดอกเบี้ยที่ปรับลด 6,480 ล้านบาท และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ NPL ลดลง คิดเป็นมูลค่า 2,420 ล้านบาท สำหรับการถือหุ้นของสมาชิกให้ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนและการงดหักส่งค่าหุ้นตามส่วนเงินกู้ ของสหกรณ์ ออมทรัพย์  561 แห่ง ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนให้สมาชิก 580,000 ราย เป็นเงิน 996 ล้านบาท