อันที่จริง ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งนำเสนอรายงานในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่จะขออภิปรายในครั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนรายงานของคณะกรรมาธิการและเพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนอันอาจจะเป็นประโยชน์อย่างน้อยในสองประเด็น ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ประเด็นที่สองคือการแนะนำแนวทางการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่ดำเนินการในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ หากเราลองค้นหาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องระหว่าง Biodiversity กับ Health ใน Search engine ด้านวิทยาศาสตร์คือ Pubmed จะพบว่ามีงานวิจัยจำนวน 7,564 ชิ้น หากนับเฉพาะที่เป็น Review จะพบ 1,824 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นงานใน ค.ศ.2017 จำนวน 93 ชิ้น ผมขออนุญาตนำเสนอบางชิ้นที่เป็นประโยชน์ ดร.คิลพาทริก (AM Kilpatrick) และคณะแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ รายงานในวารสาร Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci เดือนมิถุนายน ค.ศ.2017 ว่าโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมายอันเป็นผลจากภาวะแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างเมือง หนทางเดียวที่จะชะลอสภาวะนี้ได้คือต้องเร่งสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ งานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศยืนยันตรงกันว่าโรคหลายโรคเป็นต้นว่าโรคกลัวน้ำที่พบในสัตว์มีอุบัติการณ์ลดลงหากสัตว์อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ดร.คอมเบ แห่งมหาวิทยาลัยมองเปลเยร์ ฝรั่งเศสร่วมงานกับทีมวิจัยในอังกฤษรายงานไว้ในวารสาร Emerg Microbes Infect เดือนเมษายน 2017 ว่าโรคแผลในกระเพาะที่เกิดจากแบคทีเรียบางชนิดมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเมื่อสิ่งแวดล้อมลดความหลากหลายทางชีวภาพลง ดร.เฟเนอร์ (R. Faner) และคณะแห่งมหาวิทยาลัยบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน รายงานไว้ในวารสาร Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci เดือนเมษายน 2017 ว่าแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ที่เรียกกันว่า Microbiomes ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินหายใจตอนบนของมนุษย์ลดประสิทธิภาพในการปกป้องร่างกายมนุษย์จากแบคทีเรียที่ก่อโรคโดยเป็นผลจากความหลากหลายทางชีวภาพในสิ่งแวดล้อมลดลง ดร.ตัง (WH Tang) แห่งคลีฟแลนด์คลินิก รายงานไว้ในวารสาร Cir Res เดือนมีนาคม 2017 ว่า Microbiomes ในทางเดินอาหารมีจำนวนชนิดลดลงอันเนื่องมาจากความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ผลที่ตามมาคือภูมิคุ้มกันต่อโรคหัวใจของประชากรลดลง ประชากรเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ดร.ครูเกอร์ (A Kruger) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฮัมบูร์ค เยอรมนีและคณะทำรายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร N Biotechnol เดือนพฤษภาคม 2017 ว่าภาวะโลกร้อนส่งผลให้ระบบนิเวศน์ของแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยแนะนำให้ศึกษาแบคทีเรียกลุ่ม extremophiles ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรง แบคทีเรียกลุ่มนี้อาจเป็นคำตอบในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโลกให้กลับคืนเป็นปกติก็ได้ มีรายงานวิจัยในบราซิลที่ค่อนข้างน่าสนใจนั่นคือการระบาดของมาเลเรียซึ่งเป็นโรคเขตร้อนและมีพาหะคือยุงที่มาจากป่าดงดิบร้อนชื้น เคยมีผู้เสนอว่าวิธีหนึ่งในการกำจัดมาลาเรียให้ได้ผลคือลดพื้นที่ป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าฝนเขตร้อน เรื่องนี้ ดร.ทัคเกอร์ ลิมา (JM Tucker Lima) แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาและคณะทำงานวิจัยรายงานในวารสาร Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci เดือนมิถุนายน 2017 ว่าการทำลายป่ารวมถึงการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของป่า ส่งผลให้การระบาดของมาเลเรียมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น โดยสรุปคือนักวิทยาศาสตร์หลายชาติยืนยันจากงานวิจัยที่ทำกันทั่วโลกพบว่าการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ดีกว่า กำจัดอากาศพิษได้ดีกว่า มีศักยภาพในการสร้างอ็อกซิเจนให้กับสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ทั้งยังช่วยลดโรคจากเชื้อโรคและไม่ใช่เชื้อโรคได้ดีอีกต่างหาก ซึ่งดร.คริสต์ (E Crist) แห่งสถาบันเทคโนโลยีเวอร์จิเนียและคณะให้ข้อเสนอแนะตีพิมพ์ในวารสาร Science เดือนเมษายน 2017 ว่าการลดลงของประชากรอาจเป็นโอกาสในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ผลที่ได้คือสุขภาพของมนุษย์ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลง การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพไม่จำเป็นต้องทำในป่า ดร.โอซุลลิแวน (OS O’Sullivan) แห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สหราชอาณาจักรและคณะตีพิมพ์รายงานวิจัยในวารสาร J Environ Manage เดือนเมษายน 2017 แนะนำให้สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองใหญ่ที่การจราจรพลุกพล่าน อัดแน่นไปด้วยประชากร ซึ่งขณะนี้หลายเมืองใหญ่ในยุโรปและอเมริกาเหนือได้เริ่มดำเนินการแล้ว วิธีสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองอย่างเช่น (1) เลิกวัฒนธรรมการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวบนถนนในเมือง ส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้หลายชนิดบนถนนเดียวกัน (2) ปลูกพันธุ์ไม้หลายชนิดลงในพื้นที่ว่างแม้มีน้อยนิด เช่น เกาะกลางถนน (3) ปลูกไม้ดอกไม้ผลให้มากขึ้นเพื่อดึงผีเสื้อ ผึ้ง นก เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (4) รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ในบ้าน อพาร์ตเมนท์ คอนโดมีเนียม อาคารใหญ่ ในเมือง (5) จัดกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การลดค่าเช่า การลดภาษี การประกวดและการให้รางวัลหน่วยราชการและเอกชนที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (5) เลือกพันธุ์ไม้ที่ให้ความสวยงามโดยไม่ต้องตกแต่งมากนักเพื่อลดกิจกรรมตกแต่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและลดมลพิษ (6) บางพื้นที่ที่มีมลพิษอาจเลี้ยงแบคทีเรียกลุ่ม extremophiles เสริมด้วยพันธุ์พืชที่เหมาะสมไม่ปล่อยทิ้งร้าง (7) ปลูกพันธุ์ไม้ให้เติบโตในใจคน โดยเสริมกิจกรรมแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้รักธรรมชาติ