เครือข่ายเยาวชนนครศรีฯ ปลุกพลังสร้างสรรค์การ์ดอย่าตก ในพื้นที่ชุมชน ร้านค้า หลังคลายล็อกดาวน์ เฟส 4 เผยลงพื้นที่มอบถุงยิ้ม 500 ครอบครัว พร้อมติดตั้งตู้ปันยิ้ม จัดกิจกรรมในครอบครัว หวังลดปัญหาเด็กติดเกม ที่ CLP อุทยานการเรียนรู้ นครศรีธรรมราช เครือข่ายเยาวชนนครศรีฯดีจังฮู้ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “เยาวชนนครศรีฯ พลังสร้างสรรค์ฝ่าวิกฤติโควิด” เพื่อผนึกกำลังคนรุ่นใหม่ ร่วมสู้ภัยโควิด–19 ด้วยปฏิบัติการเชิงรุก สร้างชุมชนปลอดภัยปลอดเชื้อ พื้นที่สร้างสรรค์ปันยิ้ม กิจกรรมสร้างสุขในบ้าน และเตรียมความพร้อมวิธีใช้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal หลังวิกฤติโควิด-19 นายสุทธิศักดิ์ กลึงสัตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนครศรีฯดีจังฮู้ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เครือข่ายเยาวชนนครศรีฯ ดีจังฮู้และภาคีเครือข่าย ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 180 ครัวเรือน ภายในพื้นที่ 6 ชุมชน ใน 6 อำเภอ เพื่อสำรวจปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน และแนวทางรับการช่วยเหลือ โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือ ประชาชนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป บางครอบครัวตกงานมีรายได้ลดลงและอีกหลายครอบครัวต้องทำงานที่บ้าน ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่กระทบต่อพัฒนาการทักษะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กใช้ชีวิตอยู่บ้านนานเกินไป โดยไม่มีกำหนดเปิดเทอมทำให้เด็กติดเกมเพิ่มขึ้น นางสาวณัฐลมัย ป้านวัน แกนนำกลุ่มยิ้มเฉ่งให้ด้วยใจ กล่าวว่า เพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกม เราจึงได้คิดค้น Delivery Play & Activity @ Home เป็นชุดกิจกรรมถุงยิ้ม ให้ผู้ปกครองและเด็กทำกิจกรรมเพิ่มทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน โดยส่งมอบให้ 500 ครอบครัวใน 6 อำเภอ ทั้งนี้เครือข่ายได้ร่วมมือกับชุมชนสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดภัยและส่งเสริมกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนในชุมชน (พื้นที่ปันยิ้ม) โดยมีอาจารย์และผู้สูงอายุ ออกมาร่วมจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กในชุมชน และติดตั้งตู้ปันยิ้ม ซึ่งเป็นตู้แลกเปลี่ยนสื่อ หนังสือ นำไปสร้างสรรค์กิจกรรมในครอบครัว เกิดกระบวนการสร้างสุขที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มที่สร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว สามารถเพิ่มทักษะการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กได้ นายองอาจ พรหมมงคล นายกสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านสามารถรับมือกับภาวะดังกล่าวได้ ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทำหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ แจกคนในพื้นที่พร้อมเก็บข้อมูลหากลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง โดยส่วนใหญ่พบว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ คือตลาดสด เพราะเป็นพื้นที่พลุกพล่านมีคนเดินจ่ายตลาดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงผุดแนวคิดตลาดปลอดเชื้อ วางมาตรการตลาดปลอดภัยปลอดเชื้อ โดยภายในตลาดมีจุดประชาสัมพันธ์ จุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย รณรงค์ให้เว้นระยะห่าง ติดตั้งอ่างล้างมือพึ่งเท้า และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคสิชล เป็นผู้ออกแบบอ่างล้างมือแบบเหยียบติดตั้งในพื้นที่ตลาด อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนการ์ดไม่ตก หากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในเฟส 4 ภาคีเครือข่ายได้ร่วมรณรงค์การ์ดไม่ตกในพื้นที่เสี่ยง อาทิ ตลาด ร้านค้า พื้นที่รวมกลุ่มในชุมชน โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากมอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาด รวมถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่หรือ New normal ด้วย ขณะที่ นางดวงดาว เทพสุวรรณ ผู้นำชุมชนตำบลโพธิ์เสด็จ จ.นครศรีธรรราช กล่าว่า ชุมชนโพธิ์เสด็จ เป็นชุมชนที่ติดเชื้อเป็นอันดับต้นๆของจังหวัด การลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนในชุมชนร่วมกันลุกขึ้นมาจัดการกับตัวเอง เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน มีการปฏิบัติตามมาตรการของทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด อาทิ ตั้งจุดคัดครอง แจกหน้ากากอนามัย ฉีดยาฆ่าเชื้อบนถนน ลงพื้นที่ให้คำแนะนำถึงบ้าน เป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ วัด มัสยิด และตลาด ส่งผลให้การรณรงค์เชิงรุกประสบความสำเร็จ ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ยังสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้ โดยไม่มีการกีดกันหรือแบ่งแยกใดๆ