กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงตามสภาพอากาศในฤดูฝน ซึ่งมีฝนตกค่อนข้างกระจายตัวดี โดยเลี่ยงพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการแล้ว และปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่ยังมีปริมาณน้อยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันนี้ (30 พ.ค.60) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบนของประเทศ มีฝนตกค่อนข้างกระจายตัวดีและบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้สถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำและสามารถเลี้ยงตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์น้ำใช้การของเขื่อนสำคัญทางภาคเหนือ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวง เขื่อนทางภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง ยังมีปริมาณที่น้อยอยู่ ประกอบกับในช่วงเดือนมิถุนายน สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้กับเขื่อนดังกล่าวได้ กรมฝนหลวงฯ จึงได้ปรับแผนการปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับช่วงฤดูฝนและไม่กระทบต่อพื้นที่การเกษตร โดยทางภาคเหนือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ จะปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนแม่กวง ซึ่งจะย้ายเครื่องบินชนิดซีเอ็น 235 จำนวน 1 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา และเครื่องบินชนิดคาราแวน จำนวน 3 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี มาสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 และปรับฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดตาก ให้เป็นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อปฏิบัติการเติมน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนภูมิพล โดยย้ายเครื่องบินชนิดกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และย้ายเครื่องบินชนิดคาราแวน จำนวน 3 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ผ่านมามีฝนตกค่อนข้างกระจายตัวดี ทำให้สถานการณ์น้ำมีปริมาณเพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรแล้ว แต่ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนหลักในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีเครื่องบินชนิดกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง เครื่องบินชนิดซุปเปอร์คิงแอร์ จำนวน 1 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก มาสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ส่วนทางภาคกลาง ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนลำตะคอง โดยย้ายเครื่องบินชนิดกาซ่า จำนวน 2 เครื่อง จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น มาสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป และคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ปฏิบัติการต่อเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนวชิราลงกรณในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของศูนย์/หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงบางภูมิภาคที่มีการปิดหน่วยปฏิบัติการนั้น เป็นการปิดหน่วยชั่วคราวเพื่อเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งหากมีฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ที่ปิดหน่วยไป ก็จะกลับมาปฏิบัติภารกิจเช่นเดิม นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในแต่ละภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับพี่น้องเกษตรกร ในเรื่องการปฏิบัติภารกิจและการขอรับบริการฝนหลวงในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเช่นกัน