โควิดระบาด ปิดเทอมยาว ทำเด็กไทยอ้วนขึ้นทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งครู เหตุขาดการออกกำลังกายและกินบ่อย ส่งผลมีความดันโลหิตสูงและเสี่ยงเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก เครือข่ายของโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัยเร่งขับเคลื่อนเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย พร้อมแนะผู้ปกครองสร้างวินัยการปฏิบัติตัวให้บุตรหลาน ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 เด็กปิดเทอม ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เด็กจึงใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นเกม ดูทีวี เมื่อหิวก็เปิดตู้เย็นหาของกิน ทำให้ขาดการออกกำลังกายและนอนดึก เพราะไม่ต้องไปโรงเรียน ซึ่งการนอนดึกจะทำให้หิวและกินมากขึ้น เด็กจึงอ้วนขึ้นมาก บางคนขึ้นไป 5-7 กิโลกรัม ส่วนเด็กที่น้ำหนักน้อยเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่ำและเจ็บป่วยง่าย ซึ่งโครงการเด็กไทยดูดีฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของนักเรียนให้ดูดีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีเด็กจำนวนมากทีได้รับผลกระทบดังกล่าว สำหรับภาพรวมระดับประเทศนั้น ศ.พญ.ชุติมา กล่าวว่า ภาวะอ้วนมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งโรงเรียนเครือข่ายของโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย 36 โรงเรียน เป็นโรงเรียนเอกชนในกทม. และทุกภาคทั่วประเทศ รวมนักเรียนทั้งสิ้น 32,066 คน จากการสำรวจพบว่าโรคอ้วนเพิ่มขึ้นตามลำดับชั้น โดยอนุบาลอ้วนร้อยละ 11 ประถมศึกษาร้อยละ 16 มัธยมต้นร้อยละ 20 และมัธยมปลายร้อยละ 24 โครงการเด็กไทยดูดีฯ ได้มีการขับเคลื่อน เรื่องอาหารและการออกกำลังกายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราอ้วนในโรงเรียนลดลงในปีการศึกษา 2562 ร้อยละ 1-2 แต่โรงเรียนขนาดใหญ่บางแห่งแม้จะมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ก็ยังมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น ศ.พญ.ชุติมา ชี้ว่า ปัจจัยด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ เด็กเล็กเป็นวัยพึ่งพิงมักได้รับการดูแล เอาใจใส่ใกล้ชิด แต่เมื่อเข้าวัยรุ่น วัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เชื่อฟังพ่อแม่ลดลง การเข้าถึงแหล่งอาหารง่าย โดยเฉพาะผ่านระบบเดลิเวอรี และเรียนพิเศษนอกเวลา ขาดการออกกำลังกาย ทำให้แนวโน้มอ้วนเพิ่มขึ้นในเด็กมัธยมปลายเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ และที่น่าตกใจครูเกินครึ่งมีภาวะอ้วน ซึ่งทางโครงการมีการขับเคลื่อนทั้งองค์กร ส่งผลให้เกิดความตระหนักรู้และมีการแก้ไข “ทางโครงการฯ ได้สำรวจภาวะสุขภาพโรงเรียนเครือข่ายในกรุงเทพฯ 6 แห่ง พบว่าเด็กอ้วน 1 ใน 3 มีความดันโลหิตสูงกว่าเด็กปกติ และพบเด็กอ้วนคอปื้นดำ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานอีกร้อยละ 10 ผลการตรวจเลือดก็พบร้อยละ 6 ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์เริ่มเสี่ยงต่อเบาหวาน และ 3 ใน 4 มีไขมันในเลือดสูง จึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต” ศ.พญ.ชุติมา กล่าวและย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ้วนจึงน่าเป็นห่วง เพราะโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่า และจะมีอาการรุนแรงกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ยังได้เสนอข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการสร้างวินัยการปฏิบัติตัวให้กับเด็กๆ ในครอบครัวว่า ควรยึดหลักวินัย 3 ข้อ คือ 1) วินัยในการกิน ควรกินเป็นเวลา 3 มื้อ ไม่จุบจิบ รู้จักเลือกชนิดของอาหาร ครอบครัวจึงควรปฏิวัติตู้เย็นให้มีผลไม้เป็นอาหารว่าง โดยการเตรียมเป็นชิ้นคำพร้อมบริโภคบรรจุในภาชนะต่อมื้อ 2) วินัยในการใช้เวลา ต้องรู้จักแบ่งเวลา ทำการบ้าน ออกกำลังกาย และเข้านอนตามเวลา คือประมาณ 20.00 -21.00น และ 3) วินัยในการใช้เงิน เด็กๆ ต้องรู้จักประหยัด คิดก่อนซื้อ ซื้อในสิ่งที่จำเป็น มีประโยชน์ เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ และรู้จักเก็บออม ทั้งนี้ เครือข่ายเด็กไทยดูดี เตรียมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคีเครือข่ายในรูปแบบออนไลน์ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม 34 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัด สช. 31 โรงเรียน และ สพฐ. 3 โรงเรียน พร้อมผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการรวม 100 คน และโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ 13 โรงเรียนนำเสนอจุดเด่นในการดำเนินงาน