ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วง “ครึ่งหลัง” ของปี และดูเหมือนน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความยากลำบากไม่น้อย เพราะแทบทุกภาคส่วนต่างต้องรับมือกับการบริหารจัดการ หลังจากใช้เวลาต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19”กันมาตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนถึงวันนี้แน่นอนว่า ประชาชนคนไทยทุกคนต่างถูกร้องขอและกำชับจาก “รัฐบาล” ว่า “การ์ดอย่าตก” เพราะแม้รัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้บริหารจัดการ ด้วยการเอา “สาธารณสุข”นำหน้า จนทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้จนอยู่หมัด ได้รับเสียงชื่นชมทั้งในและต่างประเทศก็ตาม แต่หาก “การ์ดตก” เมื่อใด โอกาสที่คนไทย จะต้องเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกใหม่ จนยากที่จะเอาชนะได้เหมือนในยกแรก จากการรับมือสู้กับ “สงครามไวรัสโควิด” โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จนทำให้คนไทยยิ้มออก ได้กลายเป็นวาระที่รัฐบาลต้อง หาทาง “ยืนระยะ” รักษาชัยชนะ และยึดความแข็งแกร่งของ “ระบบการแพทย์” ของไทยเอาไว้เป็นหลัก เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบ สร้างแรงสะเทือนต่อไปยัง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และเกิดปัญหาปากท้องตามมา ทั้งนี้ ทั่วโลกแทบทุกประเทศที่ได้ผ่านช่วงเวลาของความยากลำบาก จากการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างใช้มาตรการต่างๆเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ บ้างต้องกลับมาล็อกดาวน์ ประเทศกันรอบสอง หลังจากที่ไวรัสโควิด กลับมาระบาดระลอกใหม่ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่วันนี้รัฐบาลได้ประกาศคลายล็อค ระยะที่3 ผ่อนปรนข้อห้าม เปิดโอกาสให้ “กิจกรรม-กิจการ” ต่างๆ เริ่มกลับมาเหมือนเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่าโอกาสที่จะสั่งล็อกดาวน์ รอบใหม่ จะไม่เกิดขึ้น หากพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของประเทศไทย จากนี้ไป ดูเหมือนว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ และตัวผู้นำเอง ต้องแบกรับกับความคาดหวัง ไปพร้อมๆกับการเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ที่ตั้งเค้ารอโถมเข้าใส่ด้วยกันถึง 3 ลูกเลยทีเดียว ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ลุกลามส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมา ในที่สุด ! คลื่นลมการเมืองในบ้านเรายามนี้ต้องยอมรับว่าร้อนระอุทะลุจุดเดือด แต่ละพรรคการเมืองต่างเกิด “ศึกใน” เปิดเกมต่อรอง แย่งชิงตำแหน่งทั้งในพรรค จนลุกลามบานปลายมาถึงเรื่องของการจัดสรรเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ในครม. ทั้ง “ป.” บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ และ “ป.” ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องผนึกกำลัง เพื่อรับมือกับความขัดแย้งดังกล่าว กันไม่เว้นแต่ละวัน ความวุ่นวายของพรรคพลังประชารัฐ เดินมาถึงเกือบสุดทาง แล้ว เมื่อมีความชัดเจนแล้วว่า “คณะกรรมการบริหาร” ชุดใหม่ที่จะมีการเลือกกันขึ้นมาใหม่ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ จะมีใครบ้าง นั่นคือ พล.อ.ประวิตร จะได้รับการเสนอชื่อให้นั่ง “หัวหน้าพรรคคนใหม่” แทน “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง และรักษาการหัวหน้าพรรค ส่วน “อนุชา นาคาศัย” จะนั่ง “เลขาธิการพรรค” แทนที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน รวมทั้งกลุ่มอำนาจของ “สามมิตร” และ “ก๊วนกทม.” ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่ร่วมกันออกแรงไล่ “กลุ่มสี่กุมาร” จนสำเร็จ จะได้ปูนบำเหน็จในคณะกรรมการบริหารชุดใหม่กันทั้งหมด เมื่อเสร็จสิ้นจากการเคลียร์ทางเก้าอี้ในพรรคพลังประชารัฐ จบลงแล้วช็อตต่อมาคือการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีในครม.ให้ “ลงตัว” มากที่สุด อย่างไรก็ดี การบริหารจัดเกมการเมือง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายแค่พลิกฝ่ามือ หากแต่ต้องพลิกแพลงและแยบยลให้เท่าทัน เสือ สิงห์ กระทิง ในสังเวียน ไม่เช่นนั้นแล้ว แม้พรรคพลังประชารัฐ จะมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ ชื่อ บิ๊กป้อม ก็อาจจะคุมเกมไม่อยู่ ! เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทั้งบิ๊กป้อมและบิ๊กตู่ ยังต้อง “มองข้ามช็อต” ต่อไปอีกว่า ตลอด1ปีที่ผ่านมาของการเป็นรัฐบาลนั้น “พรรคร่วมรัฐบาล” เองได้ช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกัน “พายเรือ” มากน้อยแค่ไหน และหากต้องดึงกระทรวงบางส่วนคืนจากมือของพรรคร่วมรัฐบาล จะเกิดแรงกระเพื่อมมากน้อยแค่ไหน ลำพังเพียงแค่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรครวมพลังประชาชาติไทย จนทำให้ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ประกาศทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค คงเหลือไว้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่กระนั้นยังมีการ “จองที่นั่ง” ผ่านสื่อ ด้วยการระบุว่า กระทรวงแรงงานยังเป็น โควต้าของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่จะพิจารณาส่ง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เข้าไปจองคิวเอาไว้เรียบร้อยแล้ว รอแค่หม่อมเต่า ลุกออกไปเมื่อการปรับ ครม.มาถึง การต่อรองอำนาจเพื่อรักษาเก้าอี้รัฐมนตรี จากพรรคร่วมรัฐบาล กำลังกลายเป็น ปัญหาที่พล.อ.ประยุทธ์ เองรู้ดีว่าที่สุดแล้ว เขาเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง ที่จะต้องรับแรงปะทะจากความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แทบทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบกันถ้วนหน้า เมื่อการหยุดยั้งและรับมือกับไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้แต่ละประเทศ ต้องประกาศล็อคดาวน์ หยุดกิจกรรม และกิจการต่างๆ ทำให้เกิดการว่างงาน ตามมา กำลังซื้อลดลง นั่นย่อมรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ยิ่งเมื่อการส่งออกสินค้าต่างๆไปต่างประเทศ มีอันหยุดชะงัก การพึ่งพาเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องกลายเป็น “ฝันร้าย” ไม่มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประจำวันที่ 15-19 มิ.ย. 63 ได้วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยกดดันหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ พร้อมทั้ง ปรับแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ QE นอกจากนี้ ดัชนีฯยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับลดลง จากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยงระบบของยุโรป ระบุว่า ธนาคารต่างๆ ไม่ควรได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ รวมทั้งนักลงทุนยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลก หลังองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี และเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวถึง 7.6% ในปีนี้ หากมีการแพร่ระบาดระลอก 2 เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีสำหรับประเทศไทยแล้วถูกคาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ณ สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปต่างต้องระวัง การใช้เงินอย่างมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากพิษโควิด จะกลับมาเล่นงานซ้ำ ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกหรือไม่ แต่รัฐบาลเองจะพยายามออกมาตรการเยียวยา สารพัดกลุ่ม แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง และเป็นการ “พยุง” ในห้วงเวลาอันสั้นเท่านั้น หากที่สุดแล้ว รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจลงได้ โอกาสที่จะเกิดแรงกดดันจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อ “ท้องไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น” ว่ากันว่าอาจจะรุนแรง ส่งแรงเหวี่ยงไปยังรัฐบาลได้หนักหน่วงจน “เรือเหล็ก” มีอันต้องล่ม มรสุมลูกสุดท้ายที่ต้องบอกว่า รุนแรงและเข้มข้นไม่แพ้มิติอื่น นั่นคือปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ และเชื่อว่าข้อนี้รัฐบาลเองก็รู้ดี ว่าต้องพยายามรักษาแนวรบด้านนี้เอาไว้ให้มั่น ! อย่าลืมว่าเวลานี้การที่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องคงอำนาจของพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เอาไว้ นอกเหนือไปจากเพื่อเอื้อต่อการใช้อำนาจสั่งการ บริหารจัดการภารกิจต่างๆให้กระชับฉับไว แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการถือ “อาวุธ”เอาไว้ในมือเพื่อ “ปราม” ไม่ให้ “กลุ่มการเมืองภาคประชาชน” ที่รอเคลื่อนไหว ต่อต้านรัฐบาลจากปมประเด็นทางการเมือง มาผูกโยงเข้ากับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การโจมตีเรื่องการทุจริตในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล แม้การเคลื่อนไหวในลักษณะแฟลช ม็อบ ของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน จะแตกต่างไปจากม็อบเสื้อสี ไม่มีการปักหลักยืดเยื้อ บุกเผาทำลายสถานที่ หากแต่กลับเป็นการเคลื่อนไหวที่เปราะบาง ยิ่งเมื่อมีการดึงนักเรียน นักศึกษา เข้ามาร่วมวง ยิ่งทำให้รัฐบาลและกองทัพ มีแต่จะตกอยู่ในวงล้อมแทนมากที่สุด ประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะมีการปรับครม.เพื่อแต่งตัวกันใหม่ หรือไม่ก็ตาม ยังต้องถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับผู้นำรัฐบาล อย่างมาก เพราะหากพลาดพลั้ง อย่างใด อย่างหนึ่ง โอกาสที่ปัญหาจะบานปลาย ลุกลาม จนบีบให้ประเทศไทย สุ่มเสี่ยงที่จะผ่าน “โค้งอันตราย!!” ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ย่อมยากลำบากเต็มที !