ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์โดยชี้ว่า จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.63 ของภาครัฐ เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ประกอบกับ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 47.7% มองว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และกลุ่มตัวอย่างกว่า 60.1% วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยจะได้รับผลด้านบวกให้มีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ ทั้งนี้ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวก และทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย แต่เป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ ขณะเดียวกันมองไปข้างหน้า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออกมาตรการฯ จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการของรัฐ หรือการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยนำเสนอแพ็กเกจราคาพิเศษให้ลูกค้ามาใช้บริการในครั้งต่อไป เป็นต้น