เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม นำโดยนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ประธานคณะกรรมาธิการ และรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1-6 พร้อมคณะรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และจากการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้จัดทำมาตรการต่างๆดังนี้ 1.ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ SME และสร้างรายได้ด้วยแพลทฟอร์ม Cloud Kitchen Food Truck ร่วม Big Brother การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุสาหกรรมทั่วประเทศ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริการด้านการมาตรฐาน การชดเชยค่าตรวจประเมินและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ มาตรการช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม การยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกตามแนวทางการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ 2.ด้านการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ และเสริมสภาพคล่องจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 6,250 ล้านบาท การพักชำระ/ขยายการผ่อนชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนฯ 18 ล้านบาท การพักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และการพักชำระหนี้ ขยายเวลา ลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขและเสริมสภาพคล่อง ของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 30,000 ล้านบาท 3.ด้านการช่วยเหลือภาคประชาชนประกอบด้วย การผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน จำนวน 10 ล้านชิ้น สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน COVID -19 (แอลกฮอล์/Face Shield) และการจัดทำตู้ปันสุขในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอขอรับจัดสรรตามโครงการตามมาตรการแผนฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยและสังคม ภายใต้ พรก. เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท วงเงินรวม 15,250 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วงเงิน 13,018 ล้านบาท เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อรองรับ New Normal การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหาร การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) การยกระดับผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเป็นทุน 2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 1,653 ล้านบาทเช่น การพัฒนาตลาดและ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนววิถีใหม่ และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 3.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต วงเงิน 579 ล้านบาทเช่น การพัฒนาระบบโครงข่ายยกระดับทักษะบุคลากรแห่งชาติ การยกระดับอุตสาหกรรมด้วย smart tech ระบบดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมศักยภาพสู่วิถีใหม่ และการจัดทำคลังข้อมูลอัจฉริยะด้านอาหาร