ส.ส."เสนอ "ชวน"ดัดนิสัยมาประชุมสาย แฉชื่อกลางห้องฯ ด้าน"'ปธ.สภาฎ"รับเห็นใจสถานที่ไม่เอื้อ เล็งทำสภาสีเขียว ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ขณะที่ ‘ชาดา’ รับลูกผุดแผนกเฉพาะ-ต้อนรับแขก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ เมื่อใกล้เวลานัดหมายประชุมสภาฯ แต่ปรากฏว่ายังมี ส.ส.เดินทางมาเข้าประชุมจำนวนน้อย นายชวนจึงเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมี ส.ส.เสนอว่า สำหรับการลงเวลามาเข้าประชุมของ ส.ส.นั้น หาก ส.ส.ท่านใดมาประชุมหลังเวลา 09.30 น. ควรประกาศชื่อพร้อมระบุเวลาที่มาเข้าประชุมด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน เพราะการตรงต่อเวลานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก นายชวน จึงชี้แจงว่า ตนเห็นด้วยว่าเวลาเป็นของมีค่า แต่ก็เห็นใจ เพราะความไม่สะดวกในเรื่องของที่จอดรถและการจราจรที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งนี้ ตนได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะอยากทำให้สภาฯ มีคุณภาพ แต่ก็ไม่ตำหนิใครเพราะเห็นใจ ซึ่งยังมีปัญหาหลายเรื่องอยู่ขณะนี้ และต้องใช้เวลาปรับปรุง แม้แต่สภาฯ เองก็ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งอาจจะต้องขอให้ ส.ส.มาให้เร็วขึ้น แต่ในช่วงนี้ยังให้โอกาส เพราะรู้ว่าหลายคนบ่นเรื่องสถานที่จอดรถและความไม่สะดวก เส้นทางการไปมาติดขัดสับสน ซึ่งตนได้แจ้งนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วว่า ช่วงแรกสามารถปรับอะไรได้ก็ให้รีบปรับ นายชวน กล่าวอีกว่า สำหรับความไม่พร้อมในเรื่องสถานที่นั้นยังคงมีอยู่ เพราะการก่อสร้างยังไม่เสร็จ ห้องที่ตนทำงานก็ชั่วคราว เมื่อเสร็จแล้วต้องย้ายอีก แต่ไม่ตำหนิใคร เพราะทุกคนก็มีความพยายาม โดยผู้ก่อสร้างเองและสภาฯ ก็พยายามร่วมมือกัน พูดคุยกันอย่างดี แม้กระทั่งการต่อสัญญาก็กำชับว่า ถ้าขืนต่อสัญญาอีกเลขาธิการสภาฯ จะลำบาก เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายประจำ ไม่ได้เกี่ยวกับประธานสภาฯ ตนเป็นฝ่ายการเมือง มีหน้าที่ดูแลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงสัญญาใดๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี มีการติดตามและเพิ่มคนงานขึ้น ทั้งนี้ ตนไปดูเกือบทุกสัปดาห์ แม้กระทั่งต้นไม้ก็ได้ซักถามว่า เอาต้นไม้ที่แก่แล้วมาปลูก หากตายจะทำอย่างไร และได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญวนศาสตร์ด้วย เช่น นำไม้ที่ยังอ่อนมาปลูกเสริมได้หรือไม่ ถ้าต้นไม้ใหญ่เป็นอะไรไปต้นเล็กจะได้โตขึ้นมาแทน นายชวน กล่าวด้วยว่า หลายคนคอมเมนท์ว่า อยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขอเรียนว่าเรายังไปแตะต้องอะไรไม่ได้เพราะจะมีปัญหาตามมา เป็นเรื่องกรณีคู่สัญญากัน แต่เมื่อเสร็จแล้วค่อยมาทบทวนกันว่ามีอะไรที่บกพร่อง เพื่อที่สภาฯ นี้จะได้เป็นหลักต่อไป เราจะทำสภาฯ สีเขียว หรือ Green Parliament ทำให้สภาพแวดล้อมดี ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งตนได้เรียนเลขาธิการวุฒิสภาและเลขาธิการสภาฯ ให้หารือดูว่า ควรจะวางระบบการใช้สภาฯ อย่างไรเพื่อไม่ให้มีปัญหา เช่น นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งเมื่อวันก่อนมีแขกต่างประเทศมา เขาก็บอกว่าบ้านเขามีหน่วยงานเกี่ยวกับการการท่องเที่ยวดูแลเป็นพิเศษ เราก็ควรจะมีแบบนั้นหรือไม่ ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีแผนกเฉพาะมาดูแล เพราะตนก็รู้สึกอึดอัด สถานที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ก็พยายามทำใจว่าถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่อย่างไรก็เป็นบ้านของเรา ก็ต้องช่วยกัน ทั้งนี้ การจะทำให้เป็นสภาฯ สีเขียวนั้นก็เป็นเรื่องดี และตนเห็นด้วยว่าต่อไปควรจะเป็นจุดท่องเที่ยวของกทม. และของประเทศ เพราะถือว่าใช้งบก่อสร้างมากมาย จะได้สร้างประโยชน์ในหลายๆ ด้าน อย่างน้อยคนที่มาดูงานหรือมาท่องเที่ยวสถานที่นี้ จึงควรจะมีแผนกท่องเที่ยวสภาฯ และแผนกต้อนรับที่ชัดเจน ซึ่งจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและดูงดงาม