“วันนี้พี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในเขต ส.ป.ก. จะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป ผมกำลังเร่งดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน”คำมั่นสัญญาจาก ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. หน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการจัดและพัฒนาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2563 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาพฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงยาวจนถึงเดือนมิถุนายน และมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 3-5 จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งในปี 2563 และได้มีการสั่งการให้ทุกกรมในสังกัด จัดเตรียมแผนงานที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรให้แก่เกษตรกร หลังพบว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (447 แห่ง) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 32,353 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 8,702 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 17) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2562 (38,579 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51) น้อยกว่าปี 2562 จำนวน 6,226 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล : ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2563) และการคาดหมายในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม มักจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง โดยปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน (ข้อมูล : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา ณ วันที่ 28 พ.ค.2563) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ได้ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ ส.ป.ก. ทั่วทุกภาค พบว่าพื้นที่หลายแห่งประสบปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการเร่งด่วนไปยัง ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อจัดทำแผนการแก้ไขระยะเร่งด่วน โดยมอบนโยบายว่าพื้นที่ที่มีการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แก่เกษตรกรแล้ว จะต้องจัดหาระบบสาธารณูปโภคให้พร้อมอยู่อาศัยและทำกินโดยเร็ว พร้อมกล่าวย้ำว่า “วันนี้ ส.ป.ก. จะทำงานเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินร่วมกับ 9 หน่วยงาน หรือ MOU 9 หน่วยงาน และจะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็วที่สุด” ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้จัดที่ดินไปแล้ว 36 ล้านไร่ ใน 72 จังหวัด โดยมีพื้นที่แหล่งน้ำประมาณ 3.4 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด จากตัวเลขดังกล่าว ส.ป.ก. ได้ตระหนักถึงความลำบากในช่วงเกิดวิกฤตภัยแล้งของทุกปีที่พี่น้องเกษตรกรในเขต ส.ป.ก. ต้องประสบและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน “ขณะนี้ ส.ป.ก. ได้กำหนดโครงการที่สอดคล้องตามนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาลท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในด้านที่ 10 เรื่อง การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนที่มีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบรวมอยู่ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศ เป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานของน้ำทั้งระบบ รวมถึงงานตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ (ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า) ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง”เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว สำหรับโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อสนองนโยบายและขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาภัยแล้งของ ส.ป.ก. ที่จะดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก 53 โครงการย่อย พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 10,426 ไร่ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 33 โครงการ 22 จังหวัด พื้นที่รับประโยชน์ 5,582 ไร่ ได้รับงบประมาณจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2.โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน FLAG SHIP PROJECT จำนวน 6 โครงการ 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา พิจิตร กำแพงเพชร พื้นที่รับประโยชน์ 735 ไร่ ได้รับงบประมาณจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 3.โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน “1 ชุมชน 1 แหล่งน้ำ” จำนวน 14 โครงการ 9 จังหวัด พื้นที่รับประโยชน์ 4,109 ไร่ ภายใต้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง นอกจากทั้ง 3 โครงการดังกล่าวแล้ว เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินยังขอรับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ในการพัฒนาแหล่งน้ำอีกจำนวน 711 โครงการ เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 319 แห่ง โครงการขุดบ่อบาดาลโซล่าเซลล์ 192 แห่ง และโครงการฝายชะลอน้ำชั่วคราวจำนวน 200 แห่ง ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวทั้งหมดได้รับการสนับสนุนและดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขต ส.ป.ก. ได้อีกเป็นจำนวนมาก การทำงานของ ส.ป.ก. ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ดร.วิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มว่า “ส.ป.ก. ยังได้กำหนดแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีเป้าหมายตัวชี้วัดที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดินให้ได้ 20 ล้านไร่ ภายใน 20 ปี (2562-2581) ภายใต้ MOU 9 หน่วยงาน ระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นต้น โดยจะทำให้เกษตรกรในเขต ส.ป.ก. ได้รับประโยชน์ถึง 2 ล้านครัวเรือน” “การพัฒนาแหล่งน้ำตาม MOU วันนี้มีผลสำเร็จชัดเจน โดยสามารถพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ไปแล้ว 61 จังหวัด 884 แห่ง ความจุน้ำรวม 270 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 558,000 ไร่ อาทิ โครงการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ 14 โครงการ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี สระบุรี หนองบัวลำภู ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ หรือโครงการความร่วมมือกับกรมชลประทาน 18 โครงการ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ชัยภูมิ สุพรรณบุรี” ทั้งนี้ ส.ป.ก. ยังคงพัฒนาในด้านแผนงานของการบริหารจัดการน้ำในอนาคต เพื่อต่อยอดการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินให้เกิดความชุ่มชื้น รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าอย่างหลากหลายให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยล่าสุดนโยบายรัฐบาล ภายใต้กรอบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (กรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) ส.ป.ก.ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบแผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3.4 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้ 2 ส่วน ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขนาดมากกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. เป็นโครงการที่ ส.ป.ก. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมปศุสัตว์ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และกองทัพบก (กอ.รมน.) ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพหลักภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวม 13,423.3776 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน สิงหาคม 2563-มีนาคม 2564) ซึ่งในส่วนของ ส.ป.ก.จะดำเนินการในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน รวม 40 แห่ง 22 จังหวัด (แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกดำเนินการใน 21 แห่ง และเฟสที่ 2 อีก 19 แห่ง) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงโดยเฉพาะในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่นอกเขตชลประทาน มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 33,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 140,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชน/แรงงานที่ตกงานในพื้นที่ให้ได้มีงานทำในช่วงวิกฤติ COVID-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย 2.โครงการพัฒนาโรงเรือนพร้อมระบบน้ำหยดอัตโนมัติในเขตปฏิรูปที่ดิน วงเงิน 51.4866 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 3 เดือน เริ่มกรกฎาคม 2563-กันยายน 2564) เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตามนโยบาย รมช.กษ. (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เน้นกระบวนการผลิตแบบกลุ่ม เป้าหมายดำเนินการใน 40 พื้นที่ 240 โรงเรือน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้แล้ว ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้อีกด้วย รวมทั้งจะเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรไปยังตลาดผ่านกลไกขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหลักของ ส.ป.ก. คือ กลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินต้องผลิตได้ ขายดี มีคุณภาพ ส.ป.ก. มุ่งมั่นในการพัฒนาแหล่งน้ำในเขต ส.ป.ก. โดยถือว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตทางการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้สามารถอยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข “ดังนั้นเมื่อพี่น้องเกษตรกรในเขต ส.ป.ก. มีแหล่งน้ำแล้ว อยากให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับทรัพยากรน้ำซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด พร้อมทั้งช่วยกันดูแลรักษาให้สามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป”ดร.วิณะโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย