“บิ๊กป้อม" ห่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ สั่ง สทนช. เร่ง 8 มาตรการรับมือฤดูฝน เตรียมแก้มลิงบางระกำ -12ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา รับน้ำหลาก เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานตาม 8 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปี 2563 ของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 2.การปรับแผนเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3.จัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 4.ตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้มีสภาพพร้อมงาน 5.ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.สำรวจแม่น้ำคูคลองและขุดลอกกำจัดผักตบชวา7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ และ 8.สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ช่วงฤดูฝนปีนี้ หลายพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน จึงเร่งรัดกรมชลประทานจัดทำแผนและมาตรการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อรองรับน้ำหลากให้แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับทุ่งรับน้ำใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ ลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ให้จัดเตรียมพื้นที่ให้แล้วเสร็จปีต่อไป พร้อมให้ประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งจัดทำเกณฑ์บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและเกณฑ์ระบายน้ำในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 นอกจากนี้ ยังให้กรมชลประทานร่วมกับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล จัดทำเกณฑ์ระบายน้ำควบคุมระดับน้ำสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 13 แห่ง ให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังและแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร พร้อมให้ประสานกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทกรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับแผนงานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 ให้แล้วเสร็จ ก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมทำแผนงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จในปี 2565 และให้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักให้เสร็จในเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทันเวลา และลดผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากที่สุด ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่ารองนายกฯห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักประสบปัญหาระบายน้ำไม่ทันดังนั้น จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ กอนช. ด้านบูรณาการขับเคลื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากผลปฏิบัติงานที่ผ่านมาดำเนินการขุดลอกคูคลองสองฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตและคลองเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตลงคลองเปรมประชากรตั้งแต่เขตดอนเมืองถึงเขตดินแดงเสร็จแล้ว ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้บางพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รองนายกฯสั่งการให้เร่งพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีสทนช.และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอ โดยเฉพาะท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดพื้นที่เก็บน้ำใต้ดินให้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมกอนช.มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งสทนช.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป