วันที่ 17 มิถุนายน 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ได้ประชุมมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติแก่ คณะกรรมการ และผู้บริหารสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นอกจากนี้มีผู้วาราชการจังหวัดเข้าร่วมประชุมผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ด้วย พลเอกประวิตร กล่าวมอบนโยบายในที่ประชุมว่า รัฐบาล ได้ให้ความสําคัญ กับการแก้ปัญหา​ ความเหลื่อมล้ำในที่ดินทํากิน ที่อยู่อาศัย และ ความยากจน ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทํากิน และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจํานวนมากปิดกิจการ ทําให้ประชาชนไม่มีงานทําและขาดรายได้ในการดํารงชีพ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสําคัญ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่ดิน ทํากิน และที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยต้องเร่งกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน จากการจํานอง การขายฝาก และ การถูกบังคับคดี ให้ได้ที่ดินกลับคืนมา จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนจํานวนมากเดินทางกลับภูมิลําเนาและไม่มีที่ดินทํากิน บจธ. ต้องให้ความช่วยเหลือ โดยน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐบาลต้องจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์การ อื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทํานองเดียวกับ ธนาคารที่ดิน เพื่อแก้ไขที่ดินทํากิน และที่อยู่อาศัย ให้ได้อย่างแท้จริง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจะเป็นเครื่องมือสําคัญของรัฐบาล ในการดําเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและ ความยากจน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ตาม วิถีปกติใหม่หรือ New normal ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญของโลก และประเทศไทยขอขอบคุณ และเป็นกําลังใจในการปฏิบัติให้กับทุกท่าน พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 5 ปีในการดำเนินการ ของ บจธ. มีผลการดำเนินงานประสบผลความสำเร็จตามภารกิจ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ยากจนไปแล้ว จำนวน 1,257 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 4,521-1-71.8 ไร่ ได้แก่ โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร จำนวน 380 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,458-2-58.6 ไร่ โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน จำนวน 324 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 2,218-3-45.9 ไร่​ โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน จำนวน 500 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 740-1-16 ไร่. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ จำนวน 53 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 103-2-57.3 ไร่. และการจัดตั้งหน่วยงาน ที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาด้านที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน บจธ. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563” ทั้งนี้​ ในอนาคต บจธ. จะช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน โดยการกระจายการถือครองที่ดิน ป้องกันการสูญเสียสิทธิ จากการจำนอง ขายฝาก บังคับคดี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ประชาชนว่างงานจำนวนมาก และต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบกับไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดย บจธ. จะให้ความช่วยเหลือให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย อย่างมั่นคงและยั่งยืน ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยใช้เงินงบประมาณ รวม 7,217,046,900 บาท ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 10,822 ราย เนื้อที่ 19,281 ไร่ ได้แก่ โครงการกระจายการถือครองที่ดิน จำนวน 4,421 ราย เนื้อที่ 16,744 ไร่ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ/จะสูญเสียสิทธิในที่ดินจำนวน 462 ราย เนื้อที่ 2,537 ไร่โครงการต้นกล้าคืนถิ่น จำนวน 462 ราย โครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชน จำนวน 4,883 รายโดยทุกโครงการของ บจธ. น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้เกษตรกรและผู้ยากจนสามารถดำรงชีพมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและมีศักดิ์ศรี