เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า หารือเพื่อเตรียมการกรณีหากไม่ขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดประกาศใช้ในวันที่ 30 มิ.ย.จะมีกฎหมายฉบับใดมาใช้แทนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับพ.ร.ก.ฉุกเฉินบ้าง ซึ่งนายวิษณุ บอกว่ามีกฎหมายทดแทนได้แต่ก็ต้องทำหลายอย่าง ขณะนี้ถือว่ายังไม่ได้ข้อยุติว่าควรหรือไม่ควรต่ออายยุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องดูอีกครั้งหนึ่ง โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมสมช.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง สาธารณสุข และที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ศบค.ร่วมหารือว่าถ้าไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กฎหมายใดทดแทน พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกฎหมายที่จะนำมาใช้ทดแทนนั้นพิจารณาไว้หลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.การควบคุมโรคติดต่อ ที่ขณะนี้นำมาใช้ควบคู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยืนยันว่าเราพิจารณาหลายทางเลือกเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกทั้ง นายกฯให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศ เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการมารองรับในกรณีหากไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งวันนี้ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องมีหรือไม่มี แต่เราพิจารณาตามสภาพแวดล้อม โดยให้น้ำหนักกับด้านสาธารณสุขเป็นหลัก พล.อ.สมศักดิ์​ กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมของโลกก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ก็เกิดการระบาดรอบ 2 จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาประกอบด้วย รวมถึงต้องดูตัวเลขความร่วมมือของประชาชนในประเทศ ซึ่งนายกฯเห็นว่าประชาชนเริ่มการ์ดตก เพราะวันแรกหลังการยกเลิกเคอร์ฟิวก็มีการไปเฉลิมฉลอง จึงขอเตือนประชาชนว่าการ์ดอย่าตก มาตรฐานที่ทำดีมาตลอดก็ขอให้คงไว้ต่อไป แต่ก็อย่างที่นายกฯบอกหากการ์ดตกอาจทำให้กลับมาประกาศเคอร์ฟิวอีกรอบได้ อย่างไรก็ตามแม้ยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ แต่ก็มีการผ่อนคลายกิจกรรมกิจการหลายอย่างไปแล้ว รวมถึงมีการยกเลิกเคอร์ฟิวทำให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอะไรมาบังคับแต่ก็อยากให้ทุกคนให้ความร่วมมือและช่วยกันดูแล ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่ว่าถ้าหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น เลขาธิการสมช.กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองเลย เพราะแม้จะมีการชุมนุมก็มีกฎหมายฉบับอื่นที่บังคับใช้กับเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่พูดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง