ประเทศไทยแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วย “ทรัพยากรน้ำ” เนื่องจากมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุม ทำให้มีฝนตกชุกทั่วพื้นที่ตลอดเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจนถึงทุกวันนี้เรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้หลายพื้นที่ยังคงตกอยู่ภายใต้ปัญหา “น้ำท่วม” และ “ภัยแล้ง” ซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ หากพลิกดูฐานข้อมูลแหล่งน้ำซึ่งจัดทำโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะพบว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีแหล่งน้ำทั้งในรูปอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นเองและแหล่งน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วประเทศมากถึง 142,931 แห่ง โดยแยกย่อยได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดเก็บกักมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมี 38 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 36 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่ง ความจุรวม 71,422 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บึงบอระเพ็ด และบึงหนองหาร เป็นต้น 2.แหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเก็บกัก 2 ล้าน–100 ล้าน ลบ.ม. เช่น เขื่อนทดน้ำ ฝาย โรงสูบน้ำ และระบบส่งน้ำ รวม 659 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 442 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 217 แห่ง ความจุรวม 6,675 ล้าน ลบ.ม. 3.แหล่งน้ำขนาดเล็ก มีขนาดเก็บกักไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม. เช่น อาคารชลประทาน ห้วย หนอง คลอง บึง และแหล่งน้ำในชุมชน โดยปัจจุบันมี 142,234 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 837 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 141,397 แห่ง ความจุรวม 5,343 ล้าน ลบ.ม. ตัวเลขทั้งหมดสะท้อนให้เราเห็นได้ว่า ในแง่ “ปริมาณ” ยังถือว่าเรามีแหล่งน้ำอยู่ในมือมากพอสมควร แต่แล้วมันเกิดปัญหาอะไรขึ้น? ถึงทำให้หลายพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอยู่อย่างซ้ำซากเหมือนที่เกริ่นไปแล้วตอนต้นและเราจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร? ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ( สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมามีช่องโหว่มากเรื่อง “เจ้าภาพ” ดูแลการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็ก 142,234 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีในจำนวนดังกล่าวยังไม่มีเจ้าภาพหลักอยู่จำนวนถึง 141,330 แห่ง แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ 716 แห่ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 140,614 แห่ง ที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถหาเจ้าภาพหลักและวางเป้าหมายการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนได้ “แหล่งน้ำเหล่านี้จึงอยู่ในสภาพสูญเปล่า อ่างเก็บน้ำสร้างมาก็ไม่มีคนดูแล เช่นเดียวกับแหล่งน้ำธรรมชาติ คู คลอง หนอง บึงต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นหลักในการรักษาฟื้นฟู โดยทุกวันนี้มีเพียงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งและแหล่งน้ำขนาดกลางเท่านั้นที่มีเจ้าภาพดูแลชัดเจน”ดร.สมเกียรติ กล่าวและย้ำว่า ดังนั้นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพได้ในอนาคตก็คือ การสร้างกลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในท้องที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานให้ต่อเนื่องถึงกันได้ตลอดทั้งลุ่มน้ำ อนาคตจากนี้เป็นต้นไป กลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำขนาดใหญ่แทบจะมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลุ่มน้ำที่มีความเหมาะสมได้รับการพัฒนาไปเกือบหมดทุกลุ่มน้ำแล้ว รวมทั้งอาจเกิดกระแสคัดค้านจากผู้ที่เห็นต่างทำให้ต้องใช้เวลาและงบประมาณค่อนข้างมากกว่าที่จะดำเนินการได้ ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น ไม่เพียงแต่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงชุมชนได้ทั่วถึงมากกว่า โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตเกษตรน้ำฝนเท่านั้น แต่การพัฒนาที่เกิดขึ้นยังตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากกว่าด้วย ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า จากแนวคิดดังกล่าว คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงมีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ โดยทำหน้าที่สำคัญๆ เช่น การจัดทำแผนโครงการ ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ หรือแม้แต่การเชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานภาคเอกชน มาชี้แจงหรือให้ข้อมูล รวมทั้งมีการรายงานผลให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้โดยตรง ส่วนกลไกการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ดร.สมเกียรติ บอกว่า จะมีการผลักดันบทบาทของหน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเนื้องานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในท้องถิ่นของตัวเองโดยตรง ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จึงเป็นมุ่งพัฒนาศักยภาพของแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่นับแสนแห่งทั่วประเทศ โดยมี อปท. เป็นกลไกสำคัญในการลงมือปฏิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานด้านน้ำในพื้นที่ ขณะที่สิ่งที่ตามมา ย่อมไม่ใช่เพียงแค่การทำให้เกิดการบูรณาการด้านการจัดการน้ำได้ตลอดทั้งสายเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรม มั่นคง และยั่งยืน