เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ร่วมแถลงถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า จากการเฝ้าติดการทำงานของรัฐบาล ทั้งในส่วนของงบประมาณที่ใช้เยียวยา 5 แสนล้านบาท มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด บริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ หมดหวังว่าจะเยียวยา เพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างไร ส่วนงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทเหมือนเอาไปจากจ่ายตามหน่วยงานเพื่อแบ่งเค้กกัน เราปรารถนาที่จะเห็นการใช้เงินก้อนมหาศาลนี้อย่างมีวิสัยทัศน์ ฟื้นฟูเศรษกิจได้ ดังนั้นการตรวจสอบและการเสนอแนะจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเราจะเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในสัปดาหนี้ เราขอฝากคำถามไปยังนายกฯ ซึ่งท่านพูดเสมอว่าจะใช้เงินจำนวนมหาศาลอย่างมีประสิทธิภาพนั้น หากท่านจริงใจขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือเป็นตัววัดใจนายกฯ ว่าจริงใจแค่ไหน ทั้งนี้ ส่วนกฎหมายประกันสังคม เราเห็นแล้วว่าผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อน เราจึงได้เสนอร่าง เพื่อแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 เราพบปัญหาเยอะ งบที่ไม่ควรตัด เช่น งบกระทรวงสาธารณสุข งบของกระทรวงศึกษาธิการกลับตัด ส่วนงบกลาโหมหลายตัวที่ควรตัดกลับไม่ตัด ซึ่งในวันที่ 17 มิ.ย.แกนนำของพรรค พท.อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการ นายสุทินจะแถลงที่รัฐสภาอีกครั้ง ด้านนายโภคิน กล่าวว่า เรายกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ทั้ง 3 ฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เราเสนอให้ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ 4 คน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเสนอของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คนและฝ่ายค้าน 2 คน รวม 4 คน ทำหน้าที่เหมือนกรรมการฯ ทุกอย่าง เว้นแต่ไม่มีอำนาจนาจหน้าที่ในการลงมติ และรายงานต่อสภาฯ ทุก 3 เดือน โดย ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อร้องขอข้อมูลการกู้เงินและการใช้เงินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ ส่วน พ.ร.ก.เอสเอ็มอีควรจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประกาศผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เราคิดว่าควรจำกัดไว้ว่าแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และทุกแห่งรวมกันต้องไม่เกิน 1 พันล้านบาท และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมตามคำนิยามในกฎหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาขอสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลหรือกำลังจะเป็น อยากให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนร่าง พ.ร.ก.ตราสารหนี้ เราเสนอให้มีคณะกรรมการผู้สังเกตการณ์ โดยเป็นผู้ทรงวุฒิที่เสนอจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างละ 2 คน ไม่มีอำนาจในการลงมติ หลักการคือหุ้นกู้ออกใหม่ที่รัฐจะเข้าไปช่วยซื้อนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 60 และควรจะมีการรายงานให้สภาฯ ทราบทุก 3 เดือนว่าการลงทุนที่ทำไปเป็นอย่างไร รวมถึงให้โอกาส ส.ส. และส.ว.1 ใน 5 เข้าชื่อขอข้อมูลรายละเอียดในการลงทุนด้วย ด้านนายสุทิน กล่าวว่า จะให้ ส.ส.ร่วมลงชื่อและเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ ได้เลยภายในสัปดาห์นี้ ในส่วนของกฎหมายประกันสังคมซึ่งเป็นปัญหาที่พรรค พท.พบ ยืนยันว่าเราจะรับฟังปัญหาจากผู้ประกันตน โดยจะจัดสัมมนาใหญ่ที่พรรค พท.ภายในสัปดาห์หน้า โดยเราจะนำร่างของเราเป็นตุ๊กตาให้ทุกคนมาแสดงความเห็นว่าอยากปรับแก้หรือเสริมแต่งตรงไหน คาดว่าไม่เกินต้นเดือน กรกฎาคมสามารถยื่นเข้าสู่สภาฯ ได้เช่นกัน ดังนั้นขอเชิญชวนผู้ประกันตนมาร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับ พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบซึ่งอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 อยากให้ติดตามการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการซึ่งพบปัญหา บางส่วนไม่ควรตัดกลับตัด บางส่วนควรตัดกลับไม่ตัดทิ้ง ส่วนงบประมาณ 64 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาวันที่ 24 กรกฎาคม รัฐบาลยังไม่ส่งเล่มมาให้เลย เราไม่อยากเห็นการส่งเล่มก่อนการอภิปรายเพียงสองสามวัน เพราะจะมีความเกี่ยวโยงไปถึงงบประมาณ 63 งบโอนและงบกู้ ซึ่งเงินไม่รู้ตั้งกี่กองถ้าไม่จัดแผนงานให้ดีจะมีปัญา หวังว่าเราจะได้เล่มภายในสัปดาห์นี้ เพื่อจัดผู้อภิปรายในแต่ละด้าน