เกษตรฯ เตรียมเยียวยาเกษตรกร ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินกว่า 8 หมื่นราย เสนอครม.เห็นขอบพรุ่งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดให้ยื่นอุธรณ์ จนถึงวันสุดท้ายเมื่อ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่ามีรายชื่อผู้ยื่นอุทธรณ์กว่า 1.8 แสนคน จาก 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้ทำการตรวจสอบรายชื่อก่อนหน้านี้ แต่ไม่พบเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯยังไม่ได้อนุมัติ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ8 หมื่นราย ซึ่งปัจจุบันได้จัดส่งเงินเยียวยาให้เรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาติดขัด 2.เป็นเกษตรกรแต่มีอาชีพรับจ้าง ซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมด้วย ประมาณ 8 หมื่นราย ในกรณีนี้ ให้หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์อีกครั้ง และให้พิจารณาเป็นรายกรณี และต้องหารือกับประกันสังคมให้ชัดเจนด้วย 3.เกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 8 หมื่นราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯอนุมัติไม่ได้ เพราะขัดกับเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เยียวยากับกลุ่มที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น อย่างไรก็ตามในกรณีนี้กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าเป้าหมายของการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดดังนั้นเกษตรกรกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงจะยกไปพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และได้มีความเห็นที่จะช่วยเหลือ โดยจะนำเข้าครม.พิจารณาเห็นชอบ วันที่ 16 มิ.ย.นี้ หากได้รับความเห็นชอบก็สามารถจ่ายจ่ายได้ทันที 4.เกษตรกรที่มีรายชื่อซ้ำซ้อนกับที่ยื่นขอในโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ได้สละมาใช้สิทธิ์รับการเยียวยาฝั่งภาคการเกษตร ประมาณ 1,000 ราย กลุ่มนี้ควรได้รับการเยียวยาเช่นกัน 5.เกษตรกรที่ถูกคัดออกมาจากโครงการไม่ทิ้งกันก่อนหน้านี้ เพราะตรวจพบว่ามีรายชื่อเป็นสมาชิกครัวเรือนเกษตรกร 2,000 ราย แต่ภายหลังโครงการเราไม่ทิ้งกัน เปิดให้ยื่นอุทธรณ์ และรับเงินเยียวยาไปแล้ว 6.กลุ่มข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ ประมาณ 2,000 ราย กรณีนี้จะไม่ได้รับการเยียวยาตามเงื่อนไข "ความเดือดร้อนของผู้ที่เป็นหนี้ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีพ ซึ่งล่าสุดได้ลงนามในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไปแล้ว โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563"ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียน เพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.คิดดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ยืมในอัตราร้อยละศูนย์ต่อปีของเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีและศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำพิพากษาตามยอมแล้ว 2.งดการขายทอดตลาดแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด เป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และ 3.ชะลอการบังคับคดีแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันเป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เว้นแต่กรณีที่ใกล้สิ้นระยะเวลาบังคับคดี