วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เป็นประธานการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2563 โดยมี พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ 1 นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม รองประธานคนที่ 2 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมต.มหาดไทย รองประธานคนที่ 3 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการ และนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 กรมทรัพยากรธรณี โดยมีคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ภายใต้ คนร. และรับทราบผลการดำเนินการของภาคเอกชนที่ได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 ที่กำหนดให้ประทานบัตรหรือเขตเหมืองแร่ที่มีเขตติดต่อกันต้องดำเนินการให้มีแผนการทำเหมืองร่วมกัน หรือออกแบบการทำเหมืองของเขตประทานบัตรที่ติดกันให้สามารถใช้ทรัพยากรแร่ได้อย่างคุ้มค่าภายใต้ความเหมาะสมทางด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี และวิศวกรรมเหมืองแร่ รวมถึงให้มีแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวมเพื่อการใช้ทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ประชุมได้มีการพิจารณาความเหมาะสมและมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564หลักเกณฑ์การจำแนกทรัพยากรแร่ของประเทศไทย ซึ่งพิจารณาปัจจัยด้านธรณีวิทยา ปัจจัยความเหมาะสมด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมืองและสถานภาพโครงการ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับการประเมินว่าพื้นที่ใดสมควรถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่ อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน สำหรับการประกอบโลหกรรม พ.ศ.... โดยการพิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ตามหลักการของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมการทำเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Smart Mining) ซึ่งเป็นการนำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในการบริหารจัดการแร่ เป็นเวทีที่จัดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะในการจะประกอบกิจการด้านเหมืองแร่อย่างมีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ประกอบกิจการ เป็นการเน้นย้ำและสร้างความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาแร่อย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สูงสุด และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สังคม และประเทศชาติ